กลั่นตัวหนังสือให้เป็นภาพที่กินใจ

ตุลย์ สุวรรณกิจ (Tull Suwannakit) คนไทยนักวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก ที่มีผลงานหนังสือในออสเตรเลียมาแล้ว 10 เล่ม

ตุลย์ สุวรรณกิจ (Tull Suwannakit) คนไทยนักวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก ที่มีผลงานหนังสือในออสเตรเลียมาแล้ว 10 เล่ม Source: SBS Thai/Parisuth Sodsai

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ตุลย์ สุวรรณกิจ คนไทยนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก เล่าถึงเส้นทางที่เขาสร้างชื่อในวงการหนังสือของออสเตรเลีย จากมันสมองและสองมือของเขาเอง โดยเริ่มจากศูนย์จนมาถึงทุกวันนี้ ที่เขามีผลงานตีพิมพ์แล้ว 10 เล่ม พร้อมอธิบายลักษณะการทำงานถ่ายทอดเรื่องราวจากตัวหนังสือเป็นภาพวาดที่กินใจนักอ่านรุ่นเยาว์


คุณ ตุลย์ สุวรรณกิจ (Tull Suwannakit) เป็นครูสอนศิลปะอยู่ในย่าน Malvern ในนครเมลเบิร์น ที่นอกเหนือจากงานสอนเด็กๆ วาดภาพแล้ว เขายังเป็นนักเขียนเรื่องและนักวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็กช่วงอายุ 4-8 ขวบ ที่มีผลงานตีพิมพ์ในออสเตรเลียแล้ว 10 เล่ม

อาทิ เรื่อง ‘What Happens Next?’ ที่เขาทั้งเขียนเรื่องและวาดภาพประกอบเอง และวาดภาพประกอบเรื่อง ‘The Flying Angel’ ให้นักเขียน Vicki Bennett เรื่อง ‘The Amazing Case of Dr Ward’ ของนักเขียน Jackie Kerin เรื่อง Sad, the Dog ของ Sandy Fussell ที่ตีพิมพ์หลายภาษา  และมีอีก 2-3 เรื่องที่ต่อคิวจะตีพิมพ์อีกเร็วๆ นี้  

ล่าสุด ภาพที่เขาวาดประกอบหนังสือเรื่อง ‘Heart and Soul’ ที่แต่งเรื่องโดย Carol Ann Martin  ได้รับการเสนอชื่อในรอบแรกเพื่อชิงรางวัลของ Australian Book Design Award (ABDA) แต่พลาดรางวัลในปีนี้ โดยเป็นภาพที่มีกลิ่นอายย้อนยุค ประกอบเรื่องราวของผู้สูงอายุคนหนึ่งที่รับสุนัขมาเลี้ยง จากนั้นวันหนึ่งไม่สบายและต้องไปอยู่ในบ้านพักคนชรา สุนัขตัวนี้จึงออกตามหาเจ้าของ จนได้พบกันในที่สุด

ฟังบทสัมภาษณ์
LISTEN TO
Tull Suwannakit image

กลั่นตัวหนังสือให้เป็นภาพที่กินใจ

SBS Thai

27/08/202121:38
ส่วนหนึ่งของผลงานวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็กของคุณ ตุลย์ สุวรรณกิจ
ส่วนหนึ่งของผลงานวาดภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็กของคุณ ตุลย์ สุวรรณกิจ Source: SBS Thai/Parisuth Sodsai
คุณ ตุลย์ สุวรรณกิจ เล่าถึงบทบาทของเขาในการทำหนังสือแต่ละเรื่องว่า

“หนังสือจะเป็นแต่คำที่เขียนอย่างเดียว เราก็ต้องจินตภาพว่าตัวละครที่น่าจะลงตัวกับตัวเรื่องน่าจะออกมาเป็นอย่างไร ผมเองซึ่งเป็นนักวาดภาพประกอบจะรับหน้าที่แทนตรงนี้ และถ่ายทอดเนื้อเรื่องและเรื่องราวต่างๆ ออกมาเป็นภาพ” คุณ ตุลย์ เล่า

เขากล่าวต่อไปว่า ในการทำหนังสือแต่ละเล่มนั้นกินเวลาไม่ใช่น้อย ตั้งแต่การคุยกับสำนักพิมพ์จนออกมาเป็นภาพ

“ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน คือภาพเสร็จเรียบร้อยและส่งไปตีพิมพ์ เพราะภาพแต่ละภาพใช้เวลาวาดหนึ่งอาทิตย์ จากนั้นก็จะส่งไปสำนักพิมพ์เพื่อขอคอมเมนต์ (comment) หรือมีฟีดแบ็ก (feedback)กลับมา เพื่อให้ปรับเปลี่ยนภาพ ดังนั้น 6 เดือนจึงค่อนข้างลงตัว ไม่เครียดจนเกินไป” นักวาดภาพประกอบเรื่องคนไทยในออสเตรเลียผู้นี้เล่า
ภาพที่คุณตุลย์วาดเพื่อร่างตัวละคร (ขวา) จนในที่สุดได้เป็นภาพในหนังสือ (ซ้าย)
ภาพที่คุณตุลย์วาดเพื่อร่างตัวละคร (ขวา) จนในที่สุดได้เป็นภาพในหนังสือ (ซ้าย) Source: SBS Thai/Parisuth Sodsai
สำหรับสไตล์ภาพวาดประกอบหนังสือในออสเตรเลีย หลายคนอาจมองว่า น่าจะต้องสะท้อนลักษณะของความเป็นตะวันตกอย่างเด่นชัด ดังนั้นคนที่เคยวาดภาพที่มีกลิ่นอายความเป็นไทยเจือปนอยู่อย่างคุณตุลย์ จึงควรต้องปรับเปลี่ยนสไตล์การวาดภาพของตนตามไปด้วย แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“เมื่อก่อนนี้ผมก็คิดอย่างนั้น ว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ล้อไปตามมุมมองหรือตามเนื้อเรื่อง แต่หลังจากคลุกคลีกับการทำหนังสือภาพที่นี่มาระยะหนึ่งแล้ว จึงรู้ว่าไม่จำเป็น ถ้าเรามีอายกลิ่นของความเป็นตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติไหนหรือสไตล์ไหน บางครั้งตรงนั้นอาจเป็นจุดเด่นเสียมากกว่า บางครั้งตรงนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับเรา อาจทำให้เรามีชื่อเสียงหรือทำให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น สำหรับตัวผมเอง บางครั้งลักษณะภาพก็จำเป็นที่จะต้องอิงไปตามตะวันตกเพราะตัวเนื้อเรื่อง แต่จะผสมผสานความเป็นเอเชียเข้ามาบ้าง โดยพอประมาณ” คุณ ตุลย์ กล่าว
คุณ ตุลย์ สุวรรณกิจ กำลังลงสีผลงานที่เขาวาด
คุณ ตุลย์ สุวรรณกิจ กำลังลงสีผลงานที่เขาวาด Source: SBS Thai/Parisuth Sodsai
แม้เคยมีผลงานวาดภาพประกอบหนังสือเด็กจากที่ประเทศไทยมาแล้ว แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้เขาได้รับการยอมรับใดๆ ในทันทีในวงการหนังสือของออสเตรเลีย เขายอมรับว่าตนเองต้องเริ่มตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ที่นี่

“พอมาที่นี่แล้ว เรื่องสไตล์การวาดและการสร้างผลงานขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดที่กว้างขวางขึ้นนั้นเป็นอุปสรรคเหมือนกัน ดังนั้นผมจึงต้องใช้เวลาในการกลับไปศึกษาและพัฒนาผลงานขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น”

“ตอนแรกที่ส่งผลงานไป 30-40 สำนักพิมพ์นั้น ไม่มีใครตอบรับมาเลย เป็นศูนย์เลย ดังนั้นก็แสดงว่าต้องปรับปรุงใหม่ ผมจึงใช้เวลาศึกษามากขึ้น หนังสือเด็กไหนที่ขายได้ดี ผมก็ไปดูว่าขายได้ดีเพราะอะไร"

"หลังจากใช้เวลากับกระบวนการตรงนี้ 2 ปี เมื่อเสนอผลงานไปอีกครั้ง ก็มีเสียงตอบรับกลับมาในแนวบวกมากขึ้นและได้ผลิตหนังสือหลังจากนั้น” คุณ ตุลย์ เผยความยากลำบาก

เขามีคำแนะนำเกี่ยวกับก้าวแรกสู่วงการ สำหรับคนไทยหรือผู้ใดที่สนใจวาดภาพประกอบหนังสือในออสเตรเลียว่า

“ก้าวแรกคืองานประจำที่มีต้องเก็บเอาไว้ก่อน” คุณตุลย์ กล่าว พร้อมหัวเราะเบา ๆ “เพราะบางทีในใจเราอาจคิดว่า ดูในหนังเห็นนักเขียนใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหรือในอะพาร์ตเมนต์หรูๆ โดยเป็นนักเขียนฟูลไทม์ แต่ความจริงแล้วเป็นจำนวนน้อยนะครับที่ได้ทำอย่างนั้น ส่วนใหญ่ยังต้องมีงานแรกหรืองานประจำที่เราทำ และงานนักเขียนเป็นงานเสริม”

ภาพที่คุณตุลย์วาดประกอบหนังสือเรื่อง ‘Heart and Soul’ ที่ได้รับการเสนอชื่อในรอบแรกเพื่อชิงรางวัล Australian Book Design Award
ภาพที่คุณตุลย์วาดประกอบหนังสือเรื่อง ‘Heart and Soul’ ที่ได้รับการเสนอชื่อในรอบแรกเพื่อชิงรางวัล Australian Book Design Award Source: SBS Thai/Parisuth Sodsai


“ให้ทดลองสิ่งใหม่ๆ และหมั่นฝึกฝนให้มีความมั่นใจ ก่อนส่งผลงานไปนำเสนอ ถ้าเราคิดว่าตัวเองมั่นใจ แต่จริงๆ แล้วยังไม่มั่นใจมากขนาดนั้น เมื่อส่งผลงานไป ทางสำนักพิมพ์เขาจะเห็นถึงลายเส้นที่ดูยังไม่พัฒนาเต็มที่เท่าไร ดังนั้น จึงควรเวลาสักปีหรือสองปีเพื่อพัฒนาตรงนี้ให้ได้มากที่สุด” คุณ ตุลย์ แนะนำ

สำหรับตัวเขาแล้ว รายได้ไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักในชีวิต แต่งานนักวาดภาพประกอบหนังสือให้สิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้นแก่เขา

“การทำหนังสือภาพเป็นแพชชัน (passion) ซึ่งทำให้เราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ทำในสิ่งที่เรารัก ทั้งๆ ที่ยังต้องทำงานสองงานควบคู่กันไปอยู่ แต่ตรงนี้ให้สิ่งตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ เพราะไม่มีงานอื่นมากมายนักที่จะให้เราได้วาดภาพอย่างนี้ ได้วาดแบบที่ไม่ใช่วิจิตรศิลป์ แต่เป็นการวาดภาพแนวการค้าที่ได้ขายออกไป ได้ทำให้ผู้อ่านคุ้นเคยกับเราและได้รู้จักเรา จึงเป็นสิ่งที่ผมค่อนข้างภูมิใจที่ได้ทำตรงนี้” คุณ ตุลย์ สุวรรณกิจ ทิ้งท้าย
ฟังบทสัมภาษณ์เต็มคุณตุลย์ สุวรรณกิจ เกี่ยวกับกระบวนการวาดภาพประกอบหนังสือ ลักษณะการทำงานนี้เป็นอาชีพ และการเขียนภาพประกอบหนังสือแตกต่างจากการวาดภาพเพื่อสุนทรีภาพอย่างไร ได้ที่นี่
LISTEN TO
Tull Suwannakit image

กลั่นตัวหนังสือให้เป็นภาพที่กินใจ

SBS Thai

27/08/202121:38
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share