แต่งงาน 11 ครั้ง หมั้น 28 ครั้ง เรื่องราวการตามหาความรักของสาวคนหนึ่ง

แม้จะแต่งงานมา 11 ครั้ง แต่โมเนตต์ ดิแอส ก็ยังคงเชื่อในรักแท้ และการค้นพบความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

Monette and her current partner, plus two of her ex-husbands

คุณโมเนตต์ กับคู่ครองคนปัจจุบัน (ภาพบนด้านซ้าย) และกับอดีตคู่ครองสองคน

อัตราการแต่งงานในออสเตรเลียกำลังลดลง แต่มีผู้คนจำนวนไม่มากนักที่ผ่านการแต่งงานมาหลายครั้ง รายการโทรทัศน์ Insight พูดคุยกับผู้มีประสบการณ์เหล่านั้น ถึงเหตุผลและผลกระทบ ในตอน “I do” over and over again? ติดตามชมได้ทาง

โมเนตต์ ดิอาส วัย 53 ปี แต่งงานมาแล้ว 11 ครั้ง และหมั้น 28 ครั้ง ก่อนที่เธอจะได้พบกับคู่ชีวิตคนปัจจุบันของเธอ

โมเนตต์พบกับแฟนคนแรกของเธอใน "โรงเรียนประถมศึกษา" และตั้งแต่นั้นมาเธอก็เฝ้าเสาะแสวงหาการแต่งงานที่จะคงอยู่ไปชั่วชีวิต ต้นแบบของเธอคือพ่อแม่ ซึ่งความรักของพวกเขาเป็นแบบอย่างความสัมพันธ์ที่เธอปรารถนาจะมี

แต่ตัวอย่างของ 'ความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ' นั้นถูก "กระชากออกไป (จากโมเนตต์) ในวัยที่กำลังเปราะบางอย่างมาก" เมื่อพ่อของเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในช่วงที่เธอกำลังจะมีอายุ 15 ปี

“ฉันสูญเสียพ่อไป และฉันรู้สึกว่า ถ้าฉันมีสามีและเริ่มมีครอบครัวเป็นของตัวเอง ฉันจะได้รับความรู้สึกของการมีครอบครัวกลับคืนมา” เธอบอกกับ SBS Insight

“ตอนนั้น ฉันกำลังพยายามกลบหลุมที่ไม่มีวันจะกลบได้เต็ม”
Monette and her dad.
โมเนตต์กับพ่อของเธอ

ความรักในออสเตรเลียเทียบกับในต่างประเทศ

จากโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมประยุกต์แห่งเมลเบิร์น มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในออสเตรเลียที่แต่งงานมาแล้วมากกว่าสองครั้ง ครึ่งหนึ่งของกลุ่มนี้มีอายุมากกว่า 65 ปี

โมเนตต์มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแต่งงานและการหย่าร้างนั้นแตกต่างไปจากกฎเกณฑ์ในออสเตรเลีย การแต่งงานของโมเนตต์ยาวนานระหว่าง 4 สัปดาห์ถึง 10 ปี ขณะที่เธอแต่งงานมาแล้ว 11 ครั้ง โดยที่สองครั้งเธอแต่งงานกับอดีตสามีของเธอสองคน

ดร.เฮย์ลีย์ ฟิเชอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ที่มีความสนใจในด้านพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว กล่าวว่ากฎหมายด้านนี้เข้มงวดกว่าที่นี่

“ในออสเตรเลีย มันยากกว่าที่จะแต่งงานและหย่าร้างที่นี่ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่”

ในออสเตรเลีย ผู้ที่ตั้งใจจะแต่งงานต้องแจ้งเจตนารมณ์ที่จะแต่งงานและต้องรอเป็นเวลา 1 เดือนก่อนจะแต่งงานได้ ในขณะที่รัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ผู้คนสามารถขอใบอนุญาตการสมรสและแต่งงานได้ทันที

"แน่นอนว่า ในสหรัฐฯ ผู้คนสามารถทำตามความคิดที่ผ่านเข้ามาโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า เมื่อเราอยากจะแต่งงาน มากกว่าที่นี่ในออสเตรเลีย" ดร. ฟิเชอร์กล่าว

เธอกล่าวว่ากฎเกณฑ์ในการหย่าร้างนั้นคล้ายคลึงกัน

“ในออสเตรเลีย คุณต้องแยกทางกันเป็นเวลา 1 ปีเพื่อแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของคุณได้พังทลายลงอย่างไม่อาจแก้ไขได้ แต่ในสหรัฐอเมริกามักไม่เป็นเช่นนั้น…อาจใช้เวลาเพียง 6 ถึง 8 สัปดาห์เท่านั้น”
โมเนตต์บอกว่าเธอตกหลุมรักได้ง่าย

“ฉันรักผู้คนอย่างสุดหัวใจ แม้แต่คนที่ใจร้ายกับฉัน ฉันก็ยังแคร์พวกเขา” โมเนตต์ กล่าว

แม้ว่านั่นอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอแต่งงานหลายครั้ง แต่ความเชื่อมโยงกับลัทธิมอร์มอน (Mormonism) ของเธอก่อนหน้านี้ก็มีบทบาทเช่นกัน ศาสนาของเธอขัดขวางไม่ให้เธอออกเดทและอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนรักเป็นเวลายาวนานก่อนแต่งงาน สิ่งนี้นำไปสู่การตัดสินใจที่ทำให้เธอเสียใจในบางครั้ง การแต่งงานครั้งที่เธอเสียใจมากที่สุดคือการแต่งงานที่ส่งผลเสียต่อลูกๆ ของเธอ

“ฉันไม่ต้องการให้พวกเขาได้รับผลกระทบ…ลูกๆ ของฉันไม่ได้ขอให้มันเกิดขึ้น พวกเขาแค่เป็นผู้ยืนดูอยู่ห่างๆ ในการหย่าร้างของฉัน ฉันอาจจะตกหลุมรักผู้ชายหลายคน แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ฉันเลิกรักได้เร็วกว่าสิ่งอื่นใดคือ ถ้าคุณทำให้ครอบครัวของฉันต้องเจ็บ” โมเนตต์ กล่าว

 ดร.ฟิเชอร์กล่าวว่า ผู้ที่แต่งงานหลายครั้งมีแนวโน้มที่จะมีลูก แต่โดยทั่วไปแล้ว ลูกๆ มักมาจากการแต่งงานครั้งแรกของพวกเขา

การหย่าร้างส่งผลกระทบต่อลูกๆ

ชาวี อิสราเอล สาววัย 24 ปี เติบโตในเมลเบิร์น เธอยังได้รับผลกระทบจากการแต่งงานหลายครั้งของแม่ของเธอ เธอเกิดจากการแต่งงานครั้งแรกของแม่ แต่หลังจากนั้นก็ได้เห็นแม่ของเธอแต่งงานอีก 2 ครั้งหลังหย่าร้างกับพ่อของเธอ

Chavi, left, pictured with her mum.
ชาวี (ซ้าย) กับแม่ของเธอ
ในขณะที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ชาวีรับหน้าที่เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ซึ่งรวมไปถึงการดูแลน้อง ๆ ของเธอ ในขณะที่จัดการงานธุรการในบ้าน เช่น ทำเรื่องเกี่ยวกับธนาคาร และการจัดการบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ

เธอกล่าวว่า การหย่าร้างและการแต่งงานใหม่ของแม่ของเธอ ยังส่งผลกระทบต่อเธอในด้านอารมณ์อีกด้วย

“ฉันต้องคอยให้กำลังใจเธอและชี้นำทางให้เธอขณะที่ฉันอายุเพียง 15 ปี นั่นเป็นเรื่องยากสำหรับฉันจริงๆ ที่ต้องคอยให้กำลังใจตัวเองและให้กำลังใจแม่ของฉันด้วย” ชาวี กล่าว

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักสถิติแห่งออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่า จากการแต่งงานที่จดทะเบียนทั้งหมดในออสเตรเลีย ร้อยละ 71.6 เป็นการแต่งงานครั้งแรกของทั้งคู่ ตามมาด้วยร้อยละ 16.6 เป็นการแต่งงานครั้งแรกสำหรับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และมีเพียงร้อยละ 11.9 เท่านั้นที่ไม่ใช่การแต่งงานครั้งแรกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
MULTIPLE MARRIAGES STATS FINAL.jpg
สถิติการแต่งงานในออสเตรเลีย
การวิจัยจากสถาบันครอบครัวศึกษาแห่งออสเตรเลีย (AIFS) ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ยังไม่มีการแต่งงานใหม่เพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีจำนวนประชากรที่หย่าร้างกันมากขึ้นนั้น เป็นเพราะหลังจากการหย่าร้าง คนส่วนใหญ่มักจะอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส เนื่องจากมีการให้สิทธิแก่คู่ครองที่อยู่ร่วมกันตามพฤตินัยเช่นเดียวกับสิทธิของคู่สมรสภายใต้กฎหมายทั่วไป ดังนั้นผู้คนจำนวนมากขึ้นจึงเลือกที่จะไม่จดทะเบียนแต่งงานใหม่

"คุณสามารถเริ่มมีลูก ได้รับเงินช่วยเหลือด้านรายได้ เข้าถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล และเข้าถึงบริการศาลเพื่อขอแยกทางกันสำหรับความสัมพันธ์แบบอยู่ร่วมกันโดยไม่จดทะเบียนได้" คุณ คู นักวิจัยจาก AIFS กล่าว

สำหรับผู้ที่ยังคงเลือกที่จะแต่งงาน คุณคูกล่าวว่าบ่อยครั้งเพราะพวกเขาต้องการประกาศคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะ การแต่งงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นการแต่งงานที่เกิดขึ้นหลังจากที่คู่รักอาศัยอยู่ร่วมกันแล้ว

แม้จะผ่านการแต่งงานมาแล้วหลายครั้ง แต่การมองโลกในแง่ดีของโมเนตต์หมายความว่า เธอยังคงเชื่อในรักแท้

“หลายคนมาหาฉันและบอกฉันว่าพวกเขารู้สึกแย่กับตัวเองขนาดไหน พวกเขาพากันบอกว่าจะไม่รักใครอีกเลย หรือพวกเขาแต่งงานมาหลายครั้งเกินไปแล้ว” โมเนตต์ กล่าว

“แต่ฉันเองก็เคยบอกว่า ถ้าฉันได้สวมแหวนที่นิ้วอีกครั้ง มันจะไม่มีวันถูกถอดออกมาเลย”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 26 September 2022 3:50pm
By Anushri Sood
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends