เครือจักรภพจะอยู่รอดต่อไปหลังการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธหรือไม่

Queen Elizabeth II death

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยผู้นำประเทศในเครือจักรภพ ในการประชุมเมื่อปี 2012 Credit: Lefteris Pitarakis/PA

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

เครือจักรภพแห่งประชาชาติ (Commonwealth of Nations) ก่อตั้งขึ้นในฐานะองค์กรของรัฐสมาชิกที่ 'เท่าเทียมกัน' ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ อะไรคือจุดยืนของเครือจักรภพในศตวรรษที่ 21 หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2?


แนวคิดเกี่ยวกับเครือจักรภพแห่งประชาชาติ (Commonwealth of Nations) อุบัติขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อตอบสนองต่อการลดน้อยลงของอำนาจจักรวรรดิอังกฤษ เนื่องจากอาณานิคมต่างๆ เริ่มมีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่ง หรือประกาศเอกราชไม่ขึ้นตรงต่อจักรวรรดิ ในรูปแบบและในระยะต่างๆ กันไป

ศาสตราจารย์แองเจลา วูลลาคอตต์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หรือเอเอ็นยู อธิบายว่า

“ความจริงแล้วจักรวรรดิอังกฤษมีขอบเขตและอำนาจสูงสุดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วงต้นทศวรรษ 1920 จักรวรรดิอังกฤษปกครองพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของโลก ซึ่งมีขอบเขตอำนาจกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมีขอบเขตถึงระดับสูงสุด มันก็เริ่มหดตัว” ศ.วูลลาคอตต์ กล่าว
จักรวรรดิอังกฤษมีขอบเขตและอำนาจสูงสุดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วงต้นทศวรรษ 1920 จักรวรรดิอังกฤษปกครองพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของโลก เมื่อมีถึงระดับสูงสุด มันก็เริ่มหดตัว
ศ.แองเจลา วูลลาคอตต์
ในขณะที่ประเทศต่างๆ เช่น แอฟริกาใต้ตัดสัมพันธ์กับจักรวรรดิอังกฤษในช่วงปีทศวรรษที่ 1910 หลังสงครามโบเออร์ (Boer War) และไอร์แลนด์ขออิสระในการปกครองตนเอง (Home Rule) ในเวลาเดียวกัน ขณะที่อาณานิคมในแอฟริกาและแคริบเบียนยังคงอยู่ภายใต้กฎการปกครองของอาณานิคมนานกว่านั้น

ในออสเตรเลีย อาณานิคมต่างๆ (รัฐต่างๆ) เริ่มการปกครองตนเองและมีรัฐสภาเป็นของตนเองก่อนการก่อตั้งสหพันธรัฐ (Federation) ในปี 1901 ออสเตรเลียเริ่มออกหนังสือเดินทางของตนเองในปี 1948

ศ. วูลลาคอตต์ กล่าวเรื่องนี้ว่า

"จักรวรรดิอังกฤษและเครือจักรภพได้ทับซ้อนกัน เครือจักรภพเริ่มอุบัติขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เป็นเวลาหลายสิบปีที่มันถูกเรียกว่า 'จักรวรรดิอังกฤษและเครือจักรภพ' ซึ่งสะท้อนถึงความจริงที่ว่าอาณานิคมบางแห่งได้ปกครองตนเองและได้เอกราช ในขณะที่บางอาณานิคมยังไม่ได้เป็นเช่นนั้น" ศ.วูลลาคอตต์ กล่าว

ในปี 1947 อินเดียและปากีสถานได้รับเอกราช ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออำนาจของจักรวรรดิอังกฤษ และอิทธิพลทางการเมืองของอังกฤษต่อกิจการของประเทศอาณานิคม
ดร.ซินดี แมคครีรี อาจารย์อาวุโสด้านประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ แย้งว่าเนื่องจากการก่อตั้งเครือจักรภพเชื่อมโยงโดยตรงกับการรื้อถอนจักรวรรดิอังกฤษ จึงมีการตั้งคำถามมานานแล้วถึงอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงของเครือจักรภพ

"ทุกวันนี้ เครือจักรภพประกอบด้วยกว่า 50 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาธารณรัฐ อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศในเครือจักรภพ เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งเหมือนกับสหราชอาณาจักร คือมีพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข"

การเป็นสมาชิกเครือจักรภพเป็นไปตามความสมัครใจ และประเทศสมาชิกสามารถตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวได้ ซึ่งดร.แมคครีรี อธิบายว่า

“ขณะนี้สมาชิกส่วนใหญ่ของเครือจักรภพเป็นสาธารณรัฐและโดยส่วนใหญ่พวกเขาตัดสินใจที่จะมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐแทนที่จะเป็นกษัตริย์อังกฤษ แต่นั่นไม่ได้กีดกันพวกเขาจากการเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ มีเป็นบางประเทศที่ออกจากเครือจักรภพ มีบางประเทศที่เพิ่งเข้าร่วมไม่นานนี้ แต่โดยรวมแล้ว เครือจักรภพเป็นองค์กรที่ค่อนข้างมั่นคงตั้งแต่เริ่มรัชกาลของสมเด็จพระราชินีนาถฯ "
ขณะนี้สมาชิกส่วนใหญ่ของเครือจักรภพเป็นสาธารณรัฐและโดยส่วนใหญ่พวกเขาตัดสินใจที่จะมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ แทนที่จะเป็นกษัตริย์อังกฤษ แต่นั่นไม่ได้กีดกันพวกเขาจากการเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ
ดร.ซินดี แมคครีรี
 แต่เครือจักรภพได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงรัชสมัย 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ศ.วูลลาคอตต์จากเอเอ็นยูเชื่อว่า ความตกต่ำของเครือจักรภพส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 1952 เนื่องจากอำนาจของเครือจักรภพเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องจักรวรรดิ

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีอำนาจการควบคุมดินแดนอาณานิคมถูกโอนไปให้แก่มหาอำนาจอื่น ตัวอย่างหนึ่งก็คือฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมและดินแดนอิสระของจักรวรรดิอังกฤษตั้งแต่ปี 1841 แต่ถูกส่งมอบให้จีนในปี 1997

ศ.วูลลาคอตต์ กล่าวว่า

"มันหดหายไปจากที่เคยเป็น ฉันไม่คิดว่ามันมีอำนาจหรือมีสถานะอย่างเมื่อก่อนในโลกขณะนี้ แม้ว่ากิจกรรมบางอย่าง เช่น การแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ กิจกรรมทางวัฒนธรรม และกิจกรรมอื่น ๆ จะดำเนินต่อไป" ศ.วูลลาคอตต์ แสดงความเห็น

ดร.ซินดี แมคครีรี อธิบายว่า ขณะที่เครือจักรภพพัฒนาขึ้นภายใต้รัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่ 2 แต่สถานะในระดับนานาชาติของเครือจักรภพยังคงถูกตั้งคำถาม
ยากที่จะระบุว่าอำนาจของเครือจักรภพจริงๆ แล้ว คืออะไร
ดร.ซินดี แมคครีรี
"ยากที่จะระบุว่าอำนาจของเครือจักรภพจริงๆ แล้ว คืออะไร ซึ่งอันที่จริงนี่เป็นหนึ่งในคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเครือจักรภพ ว่าไม่ได้ทำอะไรมากนักในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา" ดร. แมคครีรี กล่าว

บาร์เบโดสเป็นประเทศล่าสุดที่ละทิ้งจักรวรรดิอังกฤษไปเป็นสาธารณรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2021

การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อให้เกิดเสียงเรียกร้องให้ออสเตรเลียดำเนินการตามบ้าง นางลิเดีย ธอร์พ วุฒิสมาชิกและเป็นชาวพื้นเมืองของออสเตรเลียเผ่า Djabwurrung Gunnai Gunditjmara กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ออสเตรเลียจะต้องสร้างสนธิสัญญากับชนกลุ่มแรกของชาติ และเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐ

"ฉันเชื่อว่าผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศนี้ ไม่ต้องการถูกบงการโดยอำนาจอาณานิคมจากประเทศอื่น เราต้องการเป็นประเทศของเราเอง เพื่อกำหนดชะตาชีวิตของเราเอง" นางลิเดีย ธอร์พ กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share