'ความปกติใหม่' ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตไวรัส

New Normal

A man looks over Bondi Beach (Getty Images) Source: Getty Images

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ขณะที่สถานการณ์ไวรัสโคโรนาเริ่มทรงตัว หลายคนอาจสงสัย ว่าชีวิตหลังวิกฤตครั้งนี้จะเป็นอย่างไร โลกจะสะอาดขึ้นมากแค่ไหน จะต้องนั่งทำงานสลับโต๊ะ หรือนั่งห่างกันต่อไปอีกหรือเปล่า หรืออาจจะมีบริการส่งอาหารที่บ้านให้เลือกใช้มากมายนับไม่ถ้วน มาดูกันว่า อะไรบ้างที่จะกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) หลังวิกฤตไวรัสครั้งนี้


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

ตั้งแต่ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของนิวซีแลนด์ นางจาซิดา อาร์เดิร์น ไปจนถึงนายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ผู้นำประเทศเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ต่างพยายามอย่างหนัก เพื่อทำให้ชีวิตผู้คนกลับไปเป็นเหมือนปกติที่ผ่านมา ก่อนที่วิกฤตไวรัสโคโรนาจะมาถึง

บางคนถึงกับกล่าวว่า วิกฤตไวรัสครั้งนี้เปรียบเสมือนการกดปุ่มรีเซ็ต โลก จนเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ขณะที่ตอนนี้ เรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดในสังคม

แล้ว ‘ความปกติใหม่’ จะเป็นอย่างไร หลังจากวิกฤตไวรัสครั้งนี้

เริ่มกันที่การทำงานเป็นอย่างแรก ธุรกิจชั้นนำต่าง ๆ ตอนนี้ต่างกำลังทำให้สถานที่ปฏิบัติงานของตนเองนั้น เป็นสภาพแวดล้อมมีความปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ของคนทำงานนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ขณะที่ Safe Work Australia แนะนำว่า การเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.5 เมตรนั้นจะดำเนินต่อไป และบนพื้นที่ใช้สอยของสถานประกอบการ จะต้องมีพื้นที่ต่อผู้ปฏิบัติงานคนหนึ่งขนาด 4 ตารางเมตร หากเป็นไปได้

ทวิตเตอร์ บริษัทสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่ ระบุว่า จะไม่เปิดสำนักงานไปจนถึงเดือนกันยายนนี้ ขณะที่พนักงานทุกคนได้รับอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้านได้อย่างถาวร โดยทวิตเตอร์ ได้ระบุไว้ในแถลงการณ์ว่า

“การเปิดสำนักงานจะเป็นการตัดสินใจของเรา ส่วนการที่พนักงานจะกลับมาทำงานที่สำนักงานหรือไม่นั้น เป็นการตัดสินใจของพวกเขาเอง ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่า การทำงานจากที่บ้านนั้นได้ผล ดังนั้น หากพนักงานของเราอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถทำให้พวกเขาทำงานจากที่บ้านได้นั้น พวกเขาสามารถทำได้ตลอดไป เราจะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น” แถลงการณ์ของทวิตเตอร์ ระบุ

บรรดาธุรกิจต่าง ๆ ตอนนี้กำลังชั่งน้ำหนักกลยุทธ์ ในการบริหารจัดการทีมงานในการทำงานจากนอกสถานที่ และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัท Google และ Facebook ได้ขยายนโยบายการทำงานที่บ้านไปจนถึงปี 2021

คุณเรเชล เซตที นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาองค์กร กล่าวว่า ทัศนคติ และโครงสร้างการทำงานใหม่นั้น เป็นเส้นทางแห่งอนาคต โดยเธอระบุว่า ผู้คนสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกับการทำงานที่บ้าน เพราะอันที่จริงแล้ว กลยุทธ์การทำงานลักษณะนี้ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนถึง 5 ปี

“การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด คือทัศนคติที่ผู้คนมีต่อการทำงานนอกสถานที่ องค์กรส่วนมากทำงานอย่างดีเยี่ยม ในการจัดเตรียมพนักงานให้สามารถทำงานจากที่บ้าน หรือนอกสถานที่ได้ภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน กลยุทธ์ปรับรูปแบบการทำงานที่อาจใช้เวลาถึง 5 ปี พวกเขาสามารถทำให้เป็นไปได้ภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ดังนั้น ดิฉันคิดว่า เราจะได้เห็นการต่อรอง ให้เกิดการหลอมรวมทางเลือกในการทำงาน ทั้งจากที่ออฟฟิศ​ และการทำงานจากที่บ้าน” คุณเรเชล เซตที กล่าว

ก่อนหน้านี้ โต๊ะทำงานแบบหมุนเวียน อุปกรณ์สำนักงาน และเวิร์กสเตชันแบบใช้ร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานมาตั้งแต่เมื่อช่วงหลายสิบปีก่อน เพื่อการใช้สอยพื้นที่ อุปกรณ์สำนักงาน และการทำงานของพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

คุณเซตที กล่าวอีกว่า วิธีปฏิบัติในสำนักงานเหล่านี้กำลังจะได้รับการพิจารณาอีกครั้ง และหากนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน จะนำไปสู่แนวทางการทำงานทีดีขึ้นกว่าในตอนนี้

 “ฉันคิดว่า จะมีการกลับไปมองกันถึงวิธีการทำงานนั้นอีกครั้ง เพราะจากมุมมองเรื่องสุขอนามัยแล้ว เรารู้ดีว่ามันมีข้อเสียมากมาย หากคนทำงานต้องใช้คีย์บอร์ด หรือนั่งโต๊ะร่วมกัน แต่ถ้าคุณนำระบบโต๊ะหมุนเวียนและการทำงานที่บ้านที่ได้รับการพิจารณาใหม่ และประยุกต์ทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน คุณอาจได้ผลลัพธ์ที่ดี มันอาจเป็นไปได้ที่เราจะกลับไปมีโต๊ะทำงานที่มีความประจำที่มากขึ้น” คุณเซตที กล่าว

ความปลอดภัยด้านสุขอนามัยนั้น ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรมีเจลล้างมือแบบไม่ใช้ส่วนผสมของน้ำ วางไว้ใกล้กับบริเวณทางเข้าออก และลิฟท์ เช่นเดียวกับในโรงพยาบาล

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่นายจ้างต้องเตรียมพร้อมที่จะพบเจอ นั่นก็คือ จำนวนวันลาป่วยลูกจ้างที่เพิ่มขึ้น จากทัศนะคติในช่วงวิกฤตไวรัส ที่พนักงานจะไม่ฝืนมาทำงาน หากรู้สึกไม่สบาย สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น แต่จะเปลี่ยนเป็นการทำงานจากที่บ้านแทน

“การพบเจอคนที่ต้องมาทำงานด้วยอาการป่วย เพราะมีงานต้องส่งวันนี้ หรือมีโปรเจกต์ต้องทำให้เสร็จ จะเปลี่ยนไป วิกฤตไวรัสครั้งนี้ทำให้ผู้คนทำงานที่บ้าน และมันจะเป็นเรื่องปกติที่คนทำงานจะโทรมาบอกว่า วันนี้จะทำงานจากที่บ้าน วันนี้ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ แต่ล็อกอินเข้ามาในระบบและทำงานได้” คุณเซตที กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจดูเป็นเรื่องลำบากสำหรับภาคธุรกิจ แต่คุณเซตทีกล่าวว่า นี่จะเป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงาน โดยเธอบผู้คนมีแนวโน้มมีส่วนรวมกับงานมากกว่าเมื่ออยู่นอกสถานที่ โดยอ้างอิงจากผลสำรวจการมีส่วนรวมกับงานในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการสำรวจจากผู้คนทั่วโลก

“เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผลสำรวจของแกลลัพ เมื่อปี 2017 ชี้ให้เห็นว่า มีลูกจ้างเพียง 15% ทั่วโลกที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับงานในสถานที่ทำงาน ขณะที่อีก 85% นั้นมีกิจกรรมเกี่ยวกับงานนอกสถานที่ นี่เป็นตัวเลขจากทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในออสเตรเลีย นั่นทำให้ฉันคิดว่า มันเป็นเวลาที่เหมะสมในการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร การเริ่มต้นใหม่ และเป็นนายจากที่ลูกจ้างอยากเลือกมาทำงานด้วย สำหรับนายจ้างแล้ว นี่เป็นหนึ่งในโอกาสที่หายาก ในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานไปสู่สภาพแวดล้อมที่มีส่วนร่วมมากขึ้น” คุณเซตทีกล่าว

ผ่านเรื่องงานไปแล้ว ต่อไปมาดูการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายในบ้านของคุณกันบ้าง

เด็ก ๆ จะเริ่มกลับไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติ ผู้คนสามารถไปเยี่ยมบ้านได้ในจำนวนที่จำกัด ขณะที่สุขอนามัยขั้นพื้นฐานของผู้คนนั้นจะดีขึ้น เพราะจากข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดเผยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) พบว่า ชาวออสเตรเลีย 9 ใน 10 ล้างมือ หรือใช้น้ำยาล้างมือแบบไม่มีส่วนผสมของน้ำมากกว่าปกติ ขณะที่ร้อยละ 49 ของชาวออสเตรเลียนั้น สัมผัสใบหน้าน้อยลงกว่าปกติ

นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวออสเตรเลียเกือบทุกคน ปฏิบัติตามคำเตือนด้านสุขภาพใหม่อย่างน้อย 1 ข้อ

ขณะที่การชอปปิงออนไลน์ก็ได้รับความนิยมมากไม่แพ่กัน จากงานวิจัยที่รวบรวมโดย คุณไดอานา มูซีนา จาก AMP Capital ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 ขณะที่การซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา  

“เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา การซื้อขายทางออนไลน์มีสภาพคล่องถึง 110% จากตัวเลขในเดือนเดียวกันเมื่อปีก่อน การซื้อขายทางออนไลน์นั้นมีความคึกคักอย่างมาก ผู้คนจะซื้อของกินของใช้จำเป็นแบบยกโหลไปเป็นช่วงเวลาหนึ่ง วิกฤตไวรัสโควิด-19 อาจทำให้เกิดการซื้อแบบยกโหลมากขึ้น ทำให้การซื้อของกินของใช้จะเป็นทางออนไลน์เป็นเรื่องปกติ จากนั้น ตลาดค้าปลีกออนไลน์จะครองส่วนแบ่งมากขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตไวรัสนี้” คุณมูซีนา กล่าว

คุณอาจสังเกตว่า ในช่วงวิกฤตไวรัสครั้งนี้ สิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำ และอากาศนั้นสะอาดขึ้น นั่นสะท้อนกับเหตุการณ์ที่อิตาลีชาวเมืองเวนิสบอกว่า น้ำในคลองเวนิสในช่วงนี้ใสที่สุดตั้งแต่เคยพบเห็นมา ขณะที่นักชีววิทยาในออสเตรเลีย ก็สามารถทำงานเพื่อช่วยเหลือปะการังที่ถูกฟอกขาวได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว

ดร.ลีแอน มอร์ริสัน นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจากสถาบันเทคโนโลยีเมลเบิร์น (RMIT) กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ได้เปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้ซ่อมแซมตนเอง หลังถูกทำลายจากจากมลภาวะในระดับสูง

“วิกฤตไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เราเห็นว่า เราสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราได้อย่างรวดเร็วโดยสิ้นเชิง มันให้เวลาเพื่อให้ธรรมชาติได้พักผ่อน ปีนี้ ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปีนี้จะลดลงอย่างมาก และมีการคาดการณ์ว่า จะเป็นการลดปริมาณลงมากที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา เราจะต้องทำให้อัตราการลดลงของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 5-10 ปี เพื่อไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์” ดร.ลีแอน มอร์ริสัน กล่าว

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้ ที่นี่

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share