VIVA: จะรับบริการด้านสุขภาพผ่านเทเลเฮลธ์ได้อย่างไร

Elderly couple telehealth session

Elderly couple telehealth session Source: Getty Images

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ชาวออสเตรเลียจำนวนมากเริ่มมีความมั่นใจ ในการรับคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านทางโทรศัพท์ (telehealth) มากขึ้น หลังพบจำนวนผู้รับบริการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา คุณจะสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรับคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านช่องทางนี้ ด้วยการเตรียมตัวให้พร้อมในขั้นพื้นฐาน


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

การรับคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านโทรศัพท์ (เทเอเฮลธ์) กำลังกลายเป็นปกติวิสัย เมื่อผู้รับการรักษาแสดงความสมัครใจ ในการพูดคุยกับแพทย์ประจำตัวผ่านช่องทางออนไลน์ หรือทางโทรศัพท์หากเป็นไปได้ 

ข้อมูลจากหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ออสเตรเลีย (Service Australia) ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้รับบริการคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบดังกล่าว เพิ่มจำนวนแบบก้าวกระโดดจาก 1.3 ล้านคนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็น 5.8 ล้านคนในเดือนเมษายน

นายแพทย์บิลลี สเตาพาส (Dr Billy Stoupas) แพทย์ประจำตัว กล่าวว่า เทเลเฮลธ์นั้น จะลดโอกาสระหว่างคนไข้และเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ ในการรับเชื้อไวรัสโคโรนา แต่อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า ผู้สูงอายุจากชุมชนหลากวัฒนธรรมนั้น ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางออนไลน์ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายนี้อย่างเพียงพอ

“มีผู้คนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก บางคนถึงกับไม่ทราบว่ามีบริการนี้อยู่ด้วย ดังนั้น ในหลายครั้ง เราจะโทรศัพท์ติดตามอาการผู้ป่วยของเราเป็นจำนวนมาก และพวกเขาพึงพอใจในสิ่งนี้ อันที่จริงแล้ว ในตอนนี้ เราสามารถที่จะทำสิ่งนี้ได้อย่างเป็นระบบมากกว่าเดิม ส่วนผู้รับบริการสามารถกำหนดนัดหมายเพื่อให้แพทย์โทรหาได้” นพ.สเตาพาสกล่าว

ด้าน แพทย์หญิงจิลเลียน ซิงเกิลตัน (Dr Gillian Singleton) โฆษกจากวิทยาลัยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในพระองค์แห่งออสเตรเลีย (Royal Australian College of General Practitioners) และเป็นผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ศูนย์สุขภาพผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยคาบรินี (Cabrini Asylum Seeker and Refugee Health Hub) ในนครเมลเบิร์น

เธออธิบายว่า บริการเทเลเฮลธ์แบบจ่ายค่าบริการร่วม (bulk-billing) หรือบริการแบบไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถทำได้ผ่านทางโทรศัพท์หรือวิดีโอแชท บนอุปกรณ์ของคุณ หากคุณกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว คุณสามารถใช้หูฟังเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของคุณระหว่างการนัดหมายได้

เธอได้แนะนำขั้นตอนง่าย ๆ ที่จะทำให้คุณได้รับประโยชน์สูงสุดในการรับบริการเทเลเฮลธ์

“เมื่อคุณจองนัดหมายในตอนนี้ แพทย์ประจำตัวจะสอบถามคุณว่า คุณต้องการรับบริการแบบตัวต่อตัว หรือผ่านระบบเทเลเฮลธ์ หรือผ่านทางวิดีโอ สำหรับการรับบริการผ่านทางวิดีโอนั้น จะมีความซับซ้อนเล็กน้อย เนื่องจากแพทย์ประจำตัวจะส่งลิงก์ให้คุณเปิด จากนั้นคุณก็จะสามารถพบกับแพทย์ประจำตัวของคุณได้ คล้ายการพบกันแบบตัวต่อตัว จุดที่มีความซับซ้อนก็คือ การทำให้แน่ใจว่าคุณอยู่ในที่เงียบ มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เสถียร หากคุณมีปัญหาด้านสายตา ดิฉันคิดว่าการใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่เป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะคุณมีขนาดหน้าจอใหญ่ คุณก็จะสามารถเห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้น” แพทย์หญิงซิงเกิลตันกล่าว
GP clinic
Source: Lisa Maree Williams/Getty Images
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์สเตาพาส ได้แนะนำให้คุณตรวจสอบว่า แพทย์ประจำตัวได้รับหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกต้องของคุณในการติดต่อนัดหมายหรือไม่ นอกจากนี้ คุณอาจเตรียมคำถามต่าง ๆ ที่จะพูดคุยกับแพทย์ประจำตัวล่วงหน้าก่อนการนัดหมาย

เนื่องจากชาวออสเตรเลีย 1 ใน 5 พูดภาษาอังกฤษอื่นนอกเหนือจากภาษาอังกฤษในบ้าน นายแพทย์สเตาพาส กล่าวว่า ผู้รับบริการสามารถหาแพทย์ประจำตัวที่พูดภาษาของคุณได้ ผ่านเว็บไซต์ค้นหาบุคลากรทางการแพทย์อย่าง

และบ่อยครั้งที่แพทย์ประจำตัวจะพูดคุยกับผู้รับบริการ ผ่านบริการแปลและล่าม (TIS National) ซึ่งให้บริการโดยหน่วยงานมหาดไทยออสเตรเลีย โดยมีล่ามแปลภาษามากกว่า 160 ภาษาจากทั่วประเทศ โดยบริการส่วนใหญ่นั้นไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง  

ข้อมูลจากบริการแปลและล่าม (TIS) ระบุว่า หน่วยงานดังกล่าวได้ให้บริการล่ามสำหรับบริการเทเลเฮลธ์ผ่านทางเสียงเท่านั้น แต่กำลังปรับปรุงระบบเพื่อให้ผู้ให้บริการด้านสุขภาพสามารถพูดคุยกับล่าม สำหรับบริการเทเลเฮลธ์แบบวิดีโอได้ ภายในเดือนสิงหาคม ปี 2020

นายแพทย์สเตาพาส กล่าวว่า มันเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับผู้ป่วย ในการขอบริการล่ามระหว่างรับคำปรึกษาทางการแพทย์

“หากผู้ป่วยได้จองนัดหมายสำหรับบริการเทเลเฮลธ์ เราจะต่อสายไปยังล่าม และเราจะโทรหาผู้รับบริการในลักษณะประชุมสาย จากนั้น เราจะสามารถพูดคุยกันได้ หรือพูดคุยผ่านล่ามหากจำเป็น เราจะขอให้พวกเขาจองนัดหมายที่มีระยะเวลานานขึ้น เนื่องจากเราจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่า ทุกสิ่งได้รับความเข้าใจอย่างถูกต้อง” นพ.สเตาพาสกล่าว 

ขณะที่ขั้นตอนทางการแพทย์ได้ปรับปรุงการบริการสำหรับผู้รับบริการทางไกล พญ.ซิงเกิลตันกล่าวว่า ผู้รับบริการไม่จำเป็นที่จะต้องพบแพทย์ประจำตัวแบบตัวต่อตัว สำหรับการส่งตัวเพื่อไปรับการรักษาในสถานที่บริการอื่น ๆ

“ดังนั้น การไปตรวจเลือด การไปเอ็กซเรย์ หรือตรวจอัลตร้าซาวด์ สิ่งที่เรากำลังทำในตอนนี้ คือการส่งเอกสารส่งต่อไปยังสถานที่ที่คุณกำลังจะไปรับบริการในทันที เพื่อให้เราสามารถจัดการนัดหมายได้สำหรับคุณ จากนั้นก็ส่งเอกสารส่งต่อ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือไปสถานที่ดังกล่าวอย่างตรงเวลา” พญ.ซิงเกิลตันกล่าว

นอกจากนี้ การไปรับยารักษาในปัจจุบัน ยังมีความสะดวกกว่าช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยระบบการออกใบสั่งยาทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งตรงถึงเภสัชกร

“พวกเราหลายคนในตอนนี้ ใช้ระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้เราสามารถส่งใบสั่งยาไปยังเภสัชกรได้โดยตรง ร้านขายยาหลายแห่งมีบริการส่งยารักษาถึงบ้านให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือไม่สะดวกที่จะออกไปไหนมาไหนในช่วงนี้ หากคุณไปที่ร้านขายยาได้ คุณก็จะสามารถไปรับยาได้ทันที” พญ.ซิงเกิลตันกล่าว

นายแพทย์สเตาพาส แนะนำให้คุณใช้งานอุปกรณ์ตรวจวัดทางการแพทย์ ในระหว่างการรับบริการผ่านเทเลเฮลธ์ เพื่อช่วยให้แพทย์เข้าใจสถานะทางสุขภาพของคุณ

“หากพวกเขามีอุปกรณ์ที่สามารถตรวจวัด  ได้ อย่างเช่น ความดันเลือด นั่นจะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะนั่นคือข้อมูลอีกระดับที่เราจะได้รับ” นพ.สเตาพาสกล่าว 

บริการเทเลเฮลธ์ยังได้เป็นอีกทางเลือกสำคัญ สำหรับผู้ที่เผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ข้อมูลจากบียอนด์บลู (Beyond Blue) แสดงให้เห็นว่า ก่อนการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 มีผู้สูงอายุระหว่างร้อยละ 10 – 15 เผชิญกับภาวะซึมเศร้า ขณะที่อีกร้อยละ 10 นั้น เผชิญกับภาวะวิตกกังวล

โดยผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลนั้น มีโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35

แม้บริการเทเลเฮลธ์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในด้านการรักษาสุขภาพจิต แต่จำนวนผู้รับบริการด้านสุขภาพจิตผ่านช่องทางดังกล่าวนั้นยังมีน้อย นับตั้งแต่การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนานั้นได้เริ่มต้น

จากสถิติของเมดิแคร์ โดยหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ออสเตรเลีย (Services Australia) พบจำนวนผู้ไปพบจิตแพทย์ในปีงบประมาณ 2018-19 จำนวน 66,000 คน จาก 2.4 ล้านคน เข้ารับบริการผ่านเทเลเฮลธ์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว พบการรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตกว่าร้อยละ 52 เกิดขึ้นผ่านบริการเทเลเฮลธ์ 
Male doctor showing man x-ray
Source: Getty Images/Westend61

พญ.ซิงเกิลตัน ได้สนับสนุนให้ผู้ที่ต้องการรับบริการด้านสุขภาพจิตเป็นครั้งแรก ตรวจสอบว่ามีค่าใช้จ่ายใดเกี่ยวกับการนัดหมายหรือไม่ โดยแพทย์ประจำตัวจะสามารถจัดทำแผนการดูแลสุขภาพจิต (Mental Health Care Plan) เพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึงบริการบำบัดที่ได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลได้เป็นจำนวน 10 ครั้ง

“สำหรับผู้ที่มีแผนการดูแลสุขภาพจิตแล้วนั้น ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาต้องการที่จะพบจิตแพทย์เอกชน ซึ่งจะคิดค่าบริการบางส่วน หรือคิดในอัตราค่าบริการร่วม (bulk-bill) ซึ่งส่วนนี้จะมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับจิตแพทย์แต่ละคน และขึ้นอยู่กับรูปแบบของบริการที่คุณเข้าถึง” พญ.ซิงเกิลตัน กล่าว

แม้บริการเทเลเฮลธ์จะไม่สามารถแทนที่การรับคำปรึกษาแบบตัวต่อตัวได้ แต่ พญ.ซิงเกิลตันกล่าวว่า มันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ เมื่อพูดถึงสิ่งที่คุณทำได้ผ่านทางโทรศัพท์และวิดีโอในบางครั้งจากระยะไกล

“เราได้รับการสอนเสมอจากวิทยาลัยแพทย์ว่า ร้อยละ 90 ของการให้คำปรึกษาคือการเก็บประวัติที่ดี และเพียงร้อยละ 10 เป็นการตรวจทางกาย” พญ.ซิงเกิลตันกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม นพ.สเตาพาส แนะนำว่า แม้คุณจะเข้าถึงการรับคำปรึกษาผ่านทางระบบเทเลเฮลธ์ แต่ก็ควรที่จะไปพบแพทย์ประจำตัวที่อยู่ใกล้คุณ 

“ถ้าคุณโทรหาแพทย์ประจำตัวในเมลเบิร์น แต่คุณอยู่ที่ควีนส์แลนด์ มันมีโอกาสน้อยที่คุณจะสามารถไปหาแพทย์ประจำตัวคนนั้น หากคุณไม่สบายในอีกสองสามวันข้างหน้า” นพ.สเตาพาสกล่าว 
GP visit iconographic
Source: SBS

คลินิกทั่วออสเตรเลียได้ปฎิบัติตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด รวมถึงการรักษาสุขอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากไวรัสโคโรนา พญ.ซิงเกิลตัน แนะนำว่า อย่าละเลยความต้องการทางการแพทย์ที่จำเป็น เนื่องจากความกลัวที่จะติดเชื้อไวรัสดังกล่าว

“จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมลเบิร์นตอนนี้ ดูเหมือนว่าหลายคนจะต้องกลับไปใช้บริการเทเลเฮลธ์เป็นหลัก แต่เรายังคงตระหนักรู้ข้อเท็จจริงที่ว่า จะต้องมีผู้คนอีกมากที่ควรได้รับการดูแล คุณอาจละเลยสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าปล่อยไว้นานเกินไปก็จะสร้างปัญหาใหญ่ได้ โทรศัพท์หาแพทย์ประจำตัวของคุณ หากต้องการที่จะวัดความดัน ตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล หรือหากคุณต้องการยารักษา ทำให้แน่ใจว่าคุณไม่พลาดการดูแลด้านสุขภาพที่จำเป็น


หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

สำหรับบริการสนับสนุนด้านอารมณ์ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โทรศัพท์ไปที่ Lifeline ที่หมายเลข 13 11 14 หรือบิยอนด์ บลู (Beyond Blue) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1300 22 4636

หากคุณต้องการล่ามแปลภาษา โปรดโทรหาบริการแปลและล่าม (TIS National) ที่หมายเลข 131 450 และขอให้ล่ามต่อสายไปยังบริการที่ต้องการ

ถ้าคุณหายใจติดขัด หรือมีเหตุฉุกเฉิน โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 000


 

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตมหานครของเมลเบิร์นต้องปฏิบัติตามคำสั่ง “ให้อยู่บ้าน” และสามารถออกจากเคหสถานได้เฉพาะเมื่อออกไปทำงานหรือไปเรียน ไปออกกำลังกาย ไปทำหน้าที่ให้การดูแล และไปซื้ออาหารหรือสิ่งของจำเป็นเท่านั้น ยังมีคำแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะด้วย

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share