สอนภาษาไทยให้เด็กผ่านกิจกรรมสนุกที่สร้างรอยยิ้ม

ครูลูกนก จุฑามาศ สวนอุดม และนักเรียนที่โรงเรียนไทยเซ็นทรัล สกูล เมลเบิร์น (SBS Thai)

ครูลูกนก จุฑามาศ สวนอุดม และนักเรียนที่โรงเรียนไทยเซ็นทรัล สกูล เมลเบิร์น Source: SBS Thai

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

คุณจุฑามาศ สวนอุดม หรือ ครูลูกนก ครูสอนภาษาไทยในเมลเบิร์น เผยเคล็ดไม่ลับ จะสอนภาษาไทยให้เด็กเชื้อสายไทยในออสเตรเลียเรียนอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ มีวิธีการสอนและกิจกรรมง่ายๆ สนุกๆ อะไรบ้างที่คุณพ่อคุณแม่ชาวไทยในต่างประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้


ครูลูกนก หรือ จุฑามาศ สวนอุดม เคยเป็นครูสอนที่โรงเรียนร.ร.วัดสระบัว เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร มา 17 ปี ก่อนที่เธอจะย้ายตามครอบครัวมาอยู่ที่ออสเตรเลีย และสอนภาษาไทยให้เด็กๆ ระดับประถมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนไทยเซ็นทรัลสกูล ในเมลเบิร์น มานานกว่า 6 ปี

เมื่อเราได้พูดคุยกับครูลูกนก สิ่งที่โดดเด่นคือเธอเป็นคนที่มีความสามารถในการพูดคุยได้อย่างสนุกสนานและมีความกระตือรือร้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กๆ จะไม่เบื่อเวลาเรียนกับครูลูกนก นอกจากนี้ จากประสบการณ์ที่เธอได้สั่งสมมาตลอดในการเป็นครูทั้งที่ไทยและในออสเตรเลียรวมกันกว่า 20 ปี ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ คุณครูลูกนกจึงมีเทคนิคมากมายในการสอนภาษาไทยให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่เพลิดเพลินใจ

กดฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
Tips on teaching Thai to children as foreign language image

สอนภาษาไทยให้เด็กผ่านกิจกรรมสนุกที่สร้างรอยยิ้ม

SBS Thai

24/02/202219:20
“เราคิดถึงตัวเราเองตอนเด็กๆ ที่ครูให้เปิดหนังสือแล้วให้ท่อง เราก็เบื่อ ไม่อยากเรียน เราต้องสวมจิตวิญญาณเด็ก เข้าใจความรู้สึกของเขา เราจะต้องทำให้การเรียนการสอนไม่น่าเบื่อ” ครูลูกนก กล่าวถึงหัวใจสำคัญในการสอนเด็ก ที่ต้องเอาผู้เรียนเป็นที่ตั้ง
ตอนเด็กๆ ที่ครูให้เปิดหนังสือแล้วให้ท่อง เราก็เบื่อ ไม่อยากเรียน เราก็จะต้องทำให้การเรียนการสอนไม่น่าเบื่อ
“การที่จะให้เด็กเหล่านี้จำพยัญชนะไทย 44 ตัวของเราได้นี่ยากมาก เพราะสัปดาห์หนึ่งเราจะเจอกันแค่วันเสาร์วันเดียว เทคนิคของครูคือใช้การเรียนปนเล่น ใช้เกมเข้าช่วย ทีนี้การจะให้เด็กๆ จำพยัญชนะได้ ครูเลยให้เขาเล่นบิงโก ซึ่งได้ทั้งพยัญชนะและฝึกคำศัพท์ไปด้วย เกมอื่นๆ ก็เช่น เกมจับคู่พยัญชนะกับคำศัพท์ เช่น ม กับรูปม้า สำหรับเกมที่ให้เด็กๆ เล่น เราก็จะเปลี่ยนบ้าง ไม่ให้เขาเบื่อ ให้เขาได้เรียนรู้แบบค่อยๆ ซึมซับไปเรื่อยๆ” ครูลูกนก ยกตัวอย่าง
ครูให้เขาเล่นบิงโก ซึ่งได้ทั้งพยัญชนะและฝึกคำศัพท์ไปด้วย
“ทีนี้พอจำพยัญชนะได้แล้ว ก็จะมาถึงเรื่องการเขียน ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมามาก เพราะมันยาก ครูก็เลยแต่งนิทานขึ้นมา เป็นนิทาน ก.ไก่ เพราะ ก.ไก่ เกิดตัวแรก ปากแหลม ก.ไก่ ก็เดินไปจิกหัว ข.ไข่ พอหัว ข.ไข่ แตกก็กลายเป็น ฃ.ขวด โมโหอีกเพราะ ก.ไก่ นิสัยไม่ดี เลยเดินไปจิกหัว ค.ควาย แตกเป็น ฅ.คน ไปเจอ ม.ม้า จิกหัวแตกเป็น ฆ.ระฆัง ครูจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เด็กๆ เขาก็จะจินตนาการตามถึงตัวพยัญชนะที่มีหัวแตกกลายเป็นอีกพยัญชนะหนึ่ง คือเราจะให้เขาเห็นความใกล้เคียงของพยัญชนะหรือตัวอักษร หลังจากนั้นเด็กๆ ก็จะค่อยๆ จำไป”
ครูแต่งนิทานขึ้นมา เป็นนิทาน ก.ไก่ เพราะ ก.ไก่ เกิดตัวแรก ปากแหลม ก.ไก่ ก็เดินไปจิกหัว ข.ไข่
ครูลูกนกเล่าวว่า การสอนเด็กๆ ให้ได้ฝึกทั้งการฟัง ที่ช่วยในการพูดออกเสียงในภายหลัง และยังได้คำศัพท์และได้ความสนุกสนานไปพร้อมกัน คือ การเล่าเรื่อง

“เกมที่เล่นจะเปลี่ยนไปบ้าง ที่ขาดไม่ได้เลยทุกสัปดาห์คือ ครูต้องเล่านิทาน โดยเล่าเป็นภาษาไทยหมดเลย นอกจากจะไม่รู้เรื่องเลยจริงๆ ถึงจะมีการอธิบายเป็นภาษาอังกฤษบ้าง คือครูพยายามจะใช้ภาษาไทยให้เยอะมากที่สุด”
เด็กเรียนตัวอักษรไทยผ่านการเล่นเกมส์ ที่โรงเรียนภาษาไทย Thai Central School ที่เมลเบิร์น (SBS Thai)
เด็กเรียนตัวอักษรไทยผ่านการเล่นเกมส์ ที่โรงเรียนภาษาไทย Thai Central School ที่เมลเบิร์น Source: SBS Thai
ครูลูกนกกล่าวต่อไปว่า ในการสอนออกเสียง นอกจากจะให้เด็กๆ ฝึกพูดตามครูแล้ว กิจกรรมสนุกๆ ที่ใช้ได้ดีในหมู่เด็กชั้นประถมคือ การร้องเพลง

“ครูจะเปิดเพลง แล้วบอกเขาว่าให้ร้องเพลงและเต้นประกอบเพลง บางทีเด็กๆ ก็บอกว่าร้องไม่เป็น เราก็บอกไม่เป็นไร ฟังไป ร้องตามไปนิดๆ หน่อยๆ ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ร้องได้เอง เช่น เพลงช้าง เพลงลิง หรือเพลงไทยหลายๆ เพลงที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ หรือเพลงไทยที่สั้นๆ ง่ายๆ ให้เด็กๆ ฝึก แล้วเขาจะซึมซับไปเองโดยไม่รู้ตัว”
เราจะร้องเพลง ‘โรงเรียนของเราน่าอยู่’ เด็กๆ ก็จะนั่งนับกันแล้วว่ามี ร.เรือ กี่ตัว
“เวลาสอนออกเสียง ร.เรือ เราก็จะร้องเพลง ‘โรงเรียนของเราน่าอยู่’ เด็กๆ ก็จะนั่งนับกันแล้วว่ามี ร.เรือ กี่ตัวในเพลงท่อนนี้ หรือเราจะให้เขามาช่วยกันนับว่าคุณครูพูด ร.เรือ กี่ตัวในหนึ่งประโยค เช่น ‘เรารักโรงเรียนเรา เราเร่งเร้าในการเรียน’ เราก็จะพูดเร็วๆ เด็กๆ ก็จะบอกว่า ครูพูดเร็วจังนับไม่ทัน แต่เราก็ตอบว่าเดี๋ยว คุณครูจะพูดช้าๆ ให้”

ครูลูกนกถือคติประจำใจที่เป็นแนวทางในการสอนของเธอคือ “ถ้าเรียนไม่สนุก ลูกจะไม่อยากมาเรียน ถ้าทำให้เขารู้สึกสนุกหรือไม่เบื่อ เขาจะขอแม่มาเรียนเอง เขาจะสนใจ”
ถ้าเรียนไม่สนุก ลูกจะไม่อยากเรียน ถ้าทำให้เขารู้สึกสนุก ไม่เบื่อ เขาจะขอมาเรียนเอง เขาจะสนใจ
สำหรับเทคนิคให้ผู้ปกครองสอนภาษาไทยให้ลูกที่บ้านนั้น ครูลูกนกย้ำว่า ต้องเริ่มต้นที่ตัวคุณแม่คุณพ่อก่อน

“ถ้าใครถามเรื่องนี้ ครูลูกนกจะบอกเสมอว่า ง่ายมากเลย คือพูดกับเขาบ่อยๆ ถึงเขาจะบอกว่าไม่รู้เรื่องเลยและคุณแม่ก็อาจจะเสียจริตนิดหนึ่ง แต่คุณแม่ก็ต้องพยายาม เพราะมีคุณแม่หลายคนที่ประสบความสำเร็จคุณแม่ต้องเริ่มต้นก่อน แล้วลูกจะได้คำศัพท์ ถึงเขาจะพูดเป็นประโยคยังไม่ได้ แต่เขาจะได้คำศัพท์เองโดยอัตโนมัติ”

“การเรียนภาษามันเป็นทักษะที่ต้องสะสม อย่างเรานะเรียนภาษาอังกฤษเราเรียนกี่ปี เรียนกันจนหน้าไหม้เลย ภาษาไทยก็เหมือนกัน อย่าไปคาดหวังกับเด็กมากเกินไป ทำให้เขาสนุกเท่านั้นพอ ให้เขาเรียนสนุกแล้วทุกอย่างจะมาเอง” ครูลูกนก หรือ คุณจุฑามาศ สวนอุดม กล่าวทิ้งท้าย

ฟังเรื่องเทคนิกการสอนเด็กออกเสียง ง.งู มีเกมอะไรที่ใช้เพื่อสอนคำศัพท์ให้เด็กบ้าง จะสอดแทรกเรื่องวัฒนธรรมไทยเข้าไปในการสอนเด็กเล็กอย่างไร และเทคนิคสำหรับคุณแม่คุณพ่อที่เริ่มพูดภาษาไทยกับลูกที่บ้าน ครูลูกนก อธิบายในประเด็นเหล่านี้อย่างสนุกสนานในบทสัมภาษณ์เต็มๆ ซึ่งกดฟังได้ที่นี่
LISTEN TO
Tips on teaching Thai to children as foreign language image

สอนภาษาไทยให้เด็กผ่านกิจกรรมสนุกที่สร้างรอยยิ้ม

SBS Thai

24/02/202219:20

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share