มองผ่านเลนส์ "กล้อง" ช่างภาพชาวไทยและเจ้าของ film lab ในเมลเบิร์น

Glong Piyathath Patiparnprasert 4 (2).JPG

คุณ กล้อง–ปิยทัศน์ ปฏิภาณประเสริฐ เจ้าของร้านห้องแล็บล้างฟิล์มที่ขึ้นชื่อในหมู่คนรักการถ่ายภาพด้วยฟิล์มในเมลเบิร์น Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

เพราะรู้สึกว่าอาชีพการงานที่ไทยเริ่ม “ตัน” ช่างภาพสาย wedding และ fashion อย่าง “กล้อง–ปิยทัศน์ ปฏิภาณประเสริฐ” จึงตัดสินใจเดินทางมาเมลเบิร์นเพื่อเปิดหูเปิดตา เปิดประสบการณ์ และเปิดโลก จนนำไปสู่การเปิด film lab สองแห่งในเมลเบิร์น ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในหมู่คนรักการถ่ายภาพฟิล์ม กล้องแชร์เรื่องราวและแนวคิดในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนากระบวนการแบบแอนะล็อกที่ทำให้ film lab ของเขาประสบความสำเร็จเฉกเช่นทุกวันนี้


แม้ทุกวันนี้การถ่ายภาพจะทำได้ง่ายดายเพียงไม่กี่คลิกบนสมาร์ตโฟน แต่ยังคงมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม ไม่ว่าจะชอบด้วยเสน่ห์ของกระบวนการคิดก่อนคลิก หรือชอบด้วย mood & tone ของภาพถ่ายที่ได้

ฟังดูเป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่เชื่อไหมว่าคนรักการถ่ายภาพฟิล์มในเมลเบิร์นนั้นมีจำนวนมากพอให้ธุรกิจ film lab หรือร้านล้างฟิล์ม มีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาดสาย

“กล้อง–ปิยทัศน์ ปฏิภาณประเสริฐ” คือช่างภาพชาวไทยผู้เป็นเจ้าของ film lab 2 สาขา ชื่อ Halide Supply และ Halide Express ในเมลเบิร์น วันที่กล้องคุยกับเราเป็นช่วงหลังหยุดปีใหม่ได้ไม่นาน เขาบอกว่าทำงานไม่ได้พักมาเป็นสัปดาห์แล้ว เพราะลูกค้านำม้วนฟิล์มมาล้างที่แล็บเป็นจำนวนมาก

ทำไมชุมชนคนรักการถ่ายภาพด้วยฟิล์มในเมลเบิร์นยังคงคึกคักแม้ราคาฟิล์มจะพุ่งสูงหลังโควิด-19 และการบริหารร้านล้างฟิล์มให้ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลเป็นอย่างไร วันนี้กล้องพร้อมแชร์เรื่องราวให้เราฟัง

Glong Piyathath Patiparnprasert 1 (2).JPG
Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert

เปิดโลก เปิดแล็บ

ย้อนกลับไปสมัยอยู่ไทย กล้องคือช่างภาพสาย wedding และ fashion ผู้ใช้กล้องฟิล์มเป็นหลักในการทำงาน เขาลงลึกกับกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจนถึงขั้นล้างฟิล์มด้วยตัวเอง

ตอนปี 2016 กล้องคิดจะเปิดร้านล้างฟิล์ม จึงเตรียมซื้ออุปกรณ์สำหรับเปิดร้านเอาไว้ แต่ช่วงนั้นอีกใจหนึ่งก็คิดว่างานเริ่ม “ตัน” ทำแต่งานแนวเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ๆ จึงเริ่มมองหาโอกาสในการไปเปิดหูเปิดตา “ผมเชื่อว่าถ้าอยากให้งานตัวเองหรือฝีมือตัวเองดีขึ้น เราต้องออกไปเจออะไรใหม่ๆ เราต้องเปิดรับอะไรที่มากกว่านี้” กล้องเล่า

เขาหาข้อมูลจนกระทั่งมาเจอวีซ่า Work and Holiday จึงตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาประเทศออสเตรเลีย โดยปักหมุดที่เมืองเมลเบิร์น “ผมเลือกเมลเบิร์นเพราะรู้สึกว่า ช่างภาพที่ผมตามดูงานส่วนใหญ่มักอยู่เมลเบิร์น ผมเลยสงสัยว่า ปัจจัยอะไรที่หล่อหลอมคนพวกนี้ให้โตขึ้นมาแล้วผลิตงานศิลปะแนวนี้ ก็เลยอยากรู้ว่าถ้าเรามาที่นี่ เราจะพัฒนางานตัวเองไปได้มากขึ้นไหม”

ช่วง 2 ปีแรกในเมลเบิร์ฯของกล้องไม่ต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ นั่นคือใช้เวลาไปกับการหัดพูดภาษาอังกฤษ ทำงานที่ร้านไทย และได้งานถ่ายภาพบ้างจากเพื่อนๆ คนไทยที่รู้จักกัน ก่อนจะค่อยๆ พูดภาษาอังกฤษคล่องขึ้นและรู้จักกับคนมากขึ้น จนกระทั่งรับงานถ่ายภาพจากลูกค้าต่างชาติได้ในที่สุด
Glong Piyathath Patiparnprasert 6.jpg
ร้านห้องแล็บล้างฟิล์ม Halide Supply ของคุณกล้องที่เมลเบิร์น Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert
จุดเปลี่ยนมาถึงตอนที่กล้องทำงานที่ร้านขายกล้องฟิล์มแห่งหนึ่ง เขามองเห็นโอกาสที่จะเพิ่มบริการล้างฟิล์มเข้าไปด้วย “คนที่มาซื้อฟิล์มที่ร้านมีจำนวนค่อนข้างเยอะ และทุกคนก็จะถามว่า ทำไมไม่รับล้างฟิล์มล่ะ ผมจึงเริ่มคิดว่ามันมีช่องทาง”

กล้องเสนอไอเดียแล็บล้างฟิล์มกับเจ้าของร้าน จนได้เป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการเซตอัปบริการล้างฟิล์ม โดยเขาส่งอุปกรณ์ที่เคยซื้อเตรียมไว้ที่ไทยมายังเมลเบิร์น ตลอดจนสอนงานให้กับเจ้าของร้านและเพื่อนร่วมงาน

แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผัน เมื่อร้านนั้นประสบปัญหาการเงินและต้องการให้พนักงานทุกคนในร้านออกทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกล้องด้วย

“ผมนั่งคุยกับเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน เพื่อนก็บอก ‘ทำไมเราไม่เปิดร้านกันเองล่ะ’ อาทิตย์นั้นเราจึงหา commercial building ไปเจอห้องหนึ่งอยู่ที่ Collingwood ราคาโอเค และที่สำคัญคือสีประตูของตึกเป็นสีเดียวกับเครื่องล้างฟิล์มที่มี ก็เลยโอเค มันต้องเป็นที่นี่แหละ เราเลยย้ายของ แล้วก็จดทะเบียนบริษัท หา accountant มาช่วยดู แล้วก็เริ่มเปิดร้านเลย ทำเรื่องเสร็จภายในประมาณ 2 อาทิตย์เองครับ”

ถ่ายแบบแอนะล็อก ล้างแบบดิจิทัล

แน่นอนว่าที่เมลเบิร์นย่อมมี film lab อื่นๆ ที่เปิดมานานกว่า แต่สิ่งที่ทำให้ Halide Supply และ Halide Express โดดเด่นจากเจ้าอื่น และทำให้ลูกค้าติดใจได้แม้เป็นร้านน้องใหม่คือ “ความเร็ว”

“ลูกค้าค่อนข้างช็อกที่เราจบงานได้เร็วขนาดนี้ ถ้าไปร้านอื่นต้องรอประมาณ 1-2 อาทิตย์ แต่ที่ Halide วันเดียวก็เสร็จแล้ว” กล้องบอก

เพราะปกติถ่ายภาพฟิล์มอยู่แล้ว กล้องจึงรู้ว่า pain point สำคัญของคนถ่ายภาพฟิล์มในเมลเบิร์นคือต้องรอล้างฟิล์มนาน เขาและเพื่อนจึงตกลงกันตั้งแต่แรกว่า Halide จะต้องแก้ปัญหานี้ให้กับลูกค้า

Glong Piyathath Patiparnprasert 5.JPG
ภายในร้านล้างฟิล์ม Space Cat Lab ของคุณกล้องที่เมืองไทย Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert
เคล็ดลับความเร็วของ Halide มีอยู่ 2 ข้อ หนึ่งคือการลงทุนกับเครื่องแสกนฟิล์ม และสองคือต้องยกเครื่องระบบแอนะล็อกใหม่หมด โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเสริม

“แล็บอื่นๆ อาจมีเครื่องแสกนฟิล์ม 2-3 ตัว แต่ที่ Halide Supply และ Halide Express รวมกัน 2 สาขามีเครื่องแสกนฟิล์มประมาณ 20 ตัว

“ส่วนเรื่องระบบการทำงาน ผมโชคดีที่เพื่อนเป็น developer เขาก็จะเขียนระบบขึ้นมา automate การทำงานทุกอย่างในร้าน เราไม่มีการมานั่งเขียนกระดาษเปิด order form เหมือนสมัยก่อน เราใช้ระบบออนไลน์ มีบาร์โค้ด ซึ่งช่วยประหยัดแรงคนและเวลาไปได้เยอะมาก

“อีกทั้งเพื่อนผมยังวางระบบคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมอุปกรณ์ล้างฟิล์มขึ้นมาใหม่ คืออุปกรณ์พวกนี้มันผลิตในช่วงปี 2000 พวกฮาร์ดแวร์มันโบราณแล้ว ระบบปฏิบัติการที่ต้องใช้คือ Windows 2000 กับ Windows XP และโดยปกติเครื่องแสกนฟิล์ม 1 ตัวจะต้องใช้คอมพ์ 1 ตัวในการควบคุม แต่เพื่อนผมทำการ virtualize ระบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ตอนนี้ระบบที่ร้านรันด้วย Linux โดยจำลองเอาคอมพ์ Windows 2000 กับ Windows XP มายำรวมกันในเครื่องเดียว ดังนั้นเราจะสามารถควบคุมทุกอย่างได้ที่จุดเดียว มันกลายเป็นว่า คนไม่กี่คนก็ operate ทั้งร้านได้เลย เป็นวิธีที่ค่อนข้างใหม่ในวงการแล็บ ในขณะที่ร้านอื่นอาจต้องใช้คอมพ์ 10 กว่าตัว แต่ที่ Halide ใช้คอมพ์ 2-3 ตัวก็พอ และระบบแทบไม่มีการ fail เลย”

ด้วยจุดแข็งที่เล่ามา Halide Supply และ Halide Express จึงค่อยๆ สั่งสมฐานลูกค้าผ่าน word of mouth โดยไม่เคยต้องทำการตลาดเลยแม้แต่น้อย และลูกค้ายังเพิ่มจำนวนขึ้นทุกๆ ปีอีกด้วย
Glong Piyathath Patiparnprasert 2 (2).JPG
Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert

ถ่ายฟิล์มเป็นชีวิต ล้างฟิล์มเห็นชีวิต

กล้องให้ insights ว่า หลังวิกฤติโควิด-19 ต้นทุนในการผลิตฟิล์มดีดตัวสูงขึ้น เพราะวัตถุดิบในการผลิตหาได้ยากขึ้น ส่งผลให้ราคาฟิล์มพุ่งสูงตาม โดยในออสเตรเลีย ฟิล์มขึ้นราคาจากม้วนละ 6-7 ดอลลาร์เป็น 12 ดอลลาร์ ส่วนในไทย ฟิล์มขึ้นราคาจากม้วนละราวๆ 120 บาทเป็น 350 บาท

จริงๆ แล้วกล้องมี film lab อีกแห่งชื่อ Space Cat Film Lab อยู่ที่ไทยด้วย จึงสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของธุรกิจนี้ในทั้ง 2 ประเทศ โดยชุมชนคนถ่ายภาพฟิล์มในไทยนั้นดูจะใหญ่กว่า แต่ด้วยราคาฟิล์มที่พุ่งสูงขึ้น ความถี่ในการถ่ายรูปฟิล์มจึงน้อยลง ในทางกลับกัน ชุมชนคนถ่ายภาพฟิล์มในเมลเบิร์นนั้นดูจะเล็กกว่า แต่คนยังมีกำลังซื้อฟิล์ม ความถี่ในการถ่ายรูปฟิล์มจึงยังคงเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งกล้องตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะคนเมลเบิร์นชอบถ่ายภาพฟิล์มเป็นชีวิตประจำวัน

“การถ่ายภาพฟิล์มเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนที่นี่ เช่น มีลูกค้าผู้หญิงคนหนึ่ง เขามาล้างฟิล์มตั้งแต่ตอนเปิดร้านใหม่ๆ เลย เราเห็นเขาถ่ายฟิล์มในทุกๆ โอกาส ไปเที่ยวกับแฟน หรืออยู่บ้านก็ถ่ายรูปเล่น หรือกระทั่งตอนคลอดลูกเขาก็ยังถ่ายด้วยกล้องฟิล์มเลย คือคนที่นี่จะลงลึก เอากล้องฟิล์มมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน”

และจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ร้าน Halide ทั้ง 2 สาขาช่วยชาวเมลเบิร์นเปลี่ยนม้วนฟิล์มสีขาวดำเป็นความทรงจำสีสดสวยที่จับต้องได้ กล้องบอกว่า ทุกวันนี้เขาก็ยังคงสนุกกับการล้างฟิล์ม และชื่นใจเสมอที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตลูกค้าหลายๆ คน

“ผมว่าความสนุกของการทำร้านล้างฟิล์มคือการได้เห็นรูปแปลกๆ อยู่ตลอดเวลา และเราได้เห็นชีวิตคนหลายๆ คน เหมือนเราทำงาน behind the scene ของชีวิตพวกเขา ถามว่ารู้สึกผูกพันไหม ก็นิดนึง อย่างผู้หญิงที่เล่าให้ฟัง เราเห็นรูปเขาตั้งแต่เริ่มเดตกับแฟน ปีสองปีถัดมาเห็นรูปแต่งงาน ปีสองปีถัดมาเห็นว่ามีลูก แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งเขาก็เอาลูกมา say hi และผมยังเจอลูกค้าน่ารักๆ เยอะ บางคนมาล้างฟิล์มกับเราตั้งแต่เขายังถ่ายรูปไม่ค่อยเป็น จนตอนนี้มีนิทรรศการกับ Centre for Contemporary Photography บางคนเปลี่ยนงานจาก tradie มาเป็นช่างภาพเต็มตัวก็มี”

Glong Piyathath Patiparnprasert 3 (2).JPG
Source: Supplied / Piyathath Patiparnprasert

โอกาสมาก็คว้า ล้มก็กลับมาตั้งหลัก

แม้ทุกวันนี้ที่แล็บจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่ขาดสาย แต่กล้องก็ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ล่าสุดเขาเพิ่งย้ายร้าน Halide Supply มายังอาคารใหม่บน Smith Street, Collingwood โดยร้านใหม่นั้นใหญ่กว่าเดิมและมีสเปซชั้นบนที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแกลเลอรี, pop-up market หรืออะไรก็ตามแต่จินตนาการจะพาไป เรียกว่ามีความเป็นไปได้ไม่รู้จบ (แว่วมาว่าจะมีนิทรรศการและการแข่งขันภาพถ่ายเร็วๆ นี้ โปรดติดตาม)

สำหรับกล้อง เขาเชื่อว่า เมื่อมีโอกาสมาถึงตัว ก็ขอให้คว้าเอาไว้และมีความกล้าที่จะลองทำ

“คนไทยเป็นคนเก่งครับ จากเท่าที่ทำงานด้วยไม่ว่าที่ไทยหรือที่นี่ คนไทยเก่ง ขยัน อดทน เอาจริงหลายคนเก่งกว่าผมด้วยซ้ำ แต่แค่บางทีอาจจะขาดโอกาสหรือขาดความกล้าในการลงมือทำ ดังนั้นถ้าคิดว่าอยากทำ อย่าไปกลัวครับ ใส่ให้สุดไปเลย เพราะผมมองว่าการมาอยู่เมลเบิร์นหรือต่างประเทศมันเป็นโอกาสที่เรามีมากกว่าคนที่อยู่ที่ไทยอยู่แล้ว ถ้าเรามัวมานั่งลังเลหรือไม่กล้าตัดสินใจ ผมว่ามันเสียโอกาส ถ้ามีไอเดียหรืออยากทำอะไร ทำไปเลยครับ อาจจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ผมว่าไม่สำคัญ เราได้อะไรกลับมาอยู่แล้ว เราล้มได้ เราก็แค่กลับมาตั้งหลัก แล้วทำใหม่ ผมว่ามันแค่นั้นเอง”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai


Share