หมอคนไทยอธิบายภาวะ ‘ลองโควิด’ หายป่วยแต่ไม่หายขาด

25 AUG 2022 LONG COVID INTV (Dr.Siraporn Tagerd_Engin Akyurt from Pixabay).jpg

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด อธิบายอาการลองโควิด (Long COVID) หายป่วยแต่ไม่หายขาด Source: Pixabay, Supplied / Engin Akyurt from Pixabay/ Siraporn Tagerd

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์คนไทยในเมลเบิร์น อธิบายถึงภาวะลองโควิด (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ลองโควิดเกิดขึ้นเพราะอะไร อาการลองโควิดแบบไหนที่พบบ่อย อาการไหนที่ควรปรึกษาแพทย์ด่วน ในออสเตรเลียมีแนวทางรักษาบรรเทาอาการลองโควิดอย่างไร พร้อมคำแนะนำวิธีหลีกเลี่ยงลองโควิด


เนื้อหาสำคัญในพอดคาสต์
  • มีผู้ติดเชื้อโควิดราว 10-35 เปอร์เซ็นต์ที่มีอาการป่วยหลงเหลือนานเกิน 12 อาทิตย์
  • เชื้อไวรัสโควิดส่งผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกาย ไม่ใช่เฉพาะระบบทางเดินหายใจ
  • อาการลองโควิดส่วนใหญ่ที่พบเป็นอย่างไร
  • ในออสเตรเลียมีแนวทางรักษาภาวะลองโควิดอย่างไร
คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์ฉบับเต็ม

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ทั่วไป (GP) ในเมลเบิร์น กล่าวว่า ภาวะลองโควิด (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เกิดขึ้นกับคนบางคนหลังติดเชื้อแล้ว

“คนไข้ส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิดนั้นอาการจะค่อยๆ หายไปภายใน 2-3 อาทิตย์ โดยคนส่วนใหญ่จะรู้สึกเหมือนกลับมาเป็นปกติ แต่จะมีคนไข้กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเปอร์เซ็นต์แตกต่างกันไปในแต่ละการวิจัย แต่อยู่ที่ประมาณ 10-35 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด สามารถมีอาการนานเกิน 12 อาทิตย์ได้ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่เราเรียกว่ามีอาการลองโควิด (Long COVID)” พญ.ศิราภรณ์ อธิบาย

แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังคงไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แน่ชัดเกี่ยวกับภาวะลองโควิด

“ลองโควิด หรือที่เรียกว่า โพสต์โควิดซินโดรม (Post COVID Syndrome) ณ ปัจจุบัน ยังคงเป็นโรคอุบัติใหม่อยู่ ที่เรายังไม่มีความรู้เกี่ยวกับมันมากนัก เนื่องจากโควิดอยู่กับเรามาเพียงเกือบสามปี ข้อมูลต่างๆ ก็ยังคงมาจากข้อมูลในช่วงสามปีที่ผ่านมาเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อถามว่าลองโควิดมีจริงไหม มันมีจริง แต่เกิดขึ้นจากอะไรนั้น เรายังไม่ทราบแน่นอน แต่คาดว่ามาจากการที่ตัวเชื้อไวรัสโควิดสามารถส่งผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกายของเรา ไม่ใช่เฉพาะแค่ระบบทางเดินหายใจเท่านั้น” คุณหมอศิราภรณ์ กล่าว
เมื่อถามว่าลองโควิดมีจริงไหม มันมีจริง แต่เกิดขึ้นจากอะไรนั้น เรายังไม่ทราบแน่นอน แต่คาดว่ามาจากการที่ตัวเชื้อไวรัสโควิดสามารถส่งผลกระทบต่อหลายระบบในร่างกายของเรา
พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด
โดยทั่วไปมักมีความเข้าใจกันว่าคนที่เมื่อติดเชื้อโควิดแล้วป่วยมาก มีโอกาสมากกว่าที่จะมีอาการลองโควิดภายหลัง แต่ถ้าติดเชื้อแล้วป่วยน้อย ก็จะไม่มีอาการลองโควิด ซึ่งในประเด็นนี้ คุณหมอกล่าวว่า มีหลายกรณีที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“(ความเข้าใจดังกล่าวนั้น) ต้องบอกว่าทั้งจริงและไม่จริง เพราะมีการศึกษาวิจัยหลายโครงการที่มีข้อมูลขัดแย้งกันพอสมควร ก่อนหน้านี้มีการศึกษาวิจัยบางโครงการที่บอกว่า คนที่มักจะเป็นลองโควิดคือคนที่มีโรคประจำตัวเก่าอยู่แล้ว หรือคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือคนที่มีอาการร้ายแรงในช่วงที่ติดโควิดใหม่ๆ แต่ในการศึกษาวิจัยใหม่ๆ บางโครงการเริ่มพบข้อมูลเพิ่มขึ้นว่า (การเกิดภาวะลองโควิด) ไม่ได้เกี่ยวว่าตอนที่ติดโควิดป่วยมากแค่ไหน หรือมีโรคประจำตัวยังไง ไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นคนอายุน้อยหรืออายุมาก”

สำหรับอาการของลองโควิด ที่ผู้คนมักรายงานเข้ามานั้น ได้แก่ “อาการที่เห็นได้ชัดและพบบ่อย เช่น มีอาการเหนื่อยมาก อาจจะทำอะไรได้ครึ่งวันก็เหนื่อยแล้ว บางคนมีอาการไอยาวนานถึง 3 เดือน หรือมีลักษณะเหมือนมีเสมหะติดคอตลอดเวลา บางคนมีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง คือหายใจถี่ๆ แล้วลมไม่เข้าเต็มปอด บางคนมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวอยู่ บางคนรู้สึกเจ็บหน้าอกเป็นพักๆ บางคนมีอาการปวดหัวอยู่ บางคนการรับรู้กลิ่นและรสหายไป โดยมีอาการเหล่านี้ยาวนานเกิน 3 เดือน บางคนมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการมีอาการทางกายเกิน 3 เดือนจึงส่งผลกระทบต่อจิตใจด้วย”
Dr Siraporn Tagerd close up 2.jpg
พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์จีพี ในเมลเบิร์น Source: Supplied / Siraporn Tagerd
คุณหมอย้ำว่า มีอาการลองโควิดบางอย่างที่ร้ายแรง ที่ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์โดยด่วนที่สุด

“อาการกลุ่มนี้ ที่ถ้าเรามี เราต้องไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ คนที่มีอาการเจ็บอกรุนแรง เหมือนกับหายใจไม่ออกหรือรู้สึกแน่นในอกมากๆ ส่วนคนที่มีอาการไข้ใหม่ขึ้นมาซึ่งไม่เกี่ยวกับโควิดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ก็ควรไปรับการตรวจเพิ่มเติม ถ้าเรามีลักษณะความจำเสื่อม หรือรู้สึกมึนงง หรือมีลักษณะบุคคลิกภาพแตกต่างจากที่เราเคยเป็น หรือมีอาการเดินลำบาก รู้สึกแขนขาอ่อนแรง ซึ่งถ้าเรามีอาการเหล่านี้ เราควรจะไปรับการตรวจเพิ่มทันที”

จากประสบการณ์ตรงที่เห็นจากคนไข้ที่มารับคำปรึกษานั้น คุณหมอศิราภรณ์ จึงได้ฝากคำเตือนถึงชุมชนคนไทยในออสเตรเลีย เกี่ยวกับลองโควิด

“ลองโควิดมีจริง หมอเห็นคนไข้ที่ติดเมื่อ 6-7 เดือนที่แล้วหรือปีที่แล้ว แต่ยังคงมีอาการแปลกๆ อยู่ เพราะฉะนั้น วิธีหลีกเลี่ยงลองโควิด คืออย่าติดโควิดตั้งแต่แรก ถ้าเราหลีกเลี่ยงได้ จะดีที่สุดค่ะ”

นอกจากนี้ คุณหมอศิราภรณ์ ทาเกิด ได้อธิบายถึงอาการหัวสมองตื้อ หรือที่เรียกกันว่า “Brain Fog” ถ้ามีอาการลองโควิดแล้วจะรักษาให้หายได้ไหม แนวทางรักษาเป็นอย่างไรสำหรับผู้ป่วยลองโควิดในออสเตรเลีย พร้อมแนะนำวิธีลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะนำลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะลองโควิดตามม

คลิก ▶ เพื่อฟังรายละเอียดในบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม
กดฟังสัมภาษณ์
thai_240822_Long COVID Dr.Siraporn image

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์คนไทยในเมลเบิร์น อธิบายถึงภาวะลองโควิด (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19 แล้ว

SBS Thai

26/08/202219:29
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share