เบื้องลึกของช่างยนต์คนไทยในออสเตรเลีย

Thai mechanic and his garage

คุณภูมิยืนอยู่หน้ารถที่ซ่อม Source: Poommanus Kranalekha

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

อีกหนึ่งสาขาอาชีพที่ต้องใช้ทักษะและความรู้ คุณภูมิมานัส กรรณเลขา (ภูมิ) เล่าถึงเส้นทางมาเป็นช่างยนต์ ที่เริ่มจากการเป็นเด็กปะยาง จนเป็นเจ้าของอู่รถในเมืองเมลเบิร์น และเบื้องลึกการทำงานของช่างยนต์ในออสเตรเลีย


ฟังสัมภาษณ์เรื่องนี้
poom thai mechanic tells his pathway to work in australia  image

เบื้องลึกของช่างยนต์คนไทยในออสเตรเลีย

SBS Thai

14/02/202218:18
เส้นทางอาชีพช่างยนต์ของ ภูมิมานัส กรรณเลขา หรือคุณภูมิ เริ่มต้นตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมปลายที่เมืองไทย พร้อมกับการดูแลซ่อมรถในธุรกิจส่วนตัวที่บ้าน

เมื่อถึงช่วงใกล้สำเร็จการศึกษา คุณภูมิมองว่าเขาไม่ต้องการเรียนจบมาเพียงเพื่อไปทำงานในออฟฟิศ หรือเป็นลูกน้องคนอื่น และมีความคิดจะขยายกิจการส่วนตัวที่บ้านด้วยการนำสินค้าจากต่างประเทศมาขาย จึงปรึกษากับทางครอบครัวเพื่อไปเรียนภาษาในต่างแดน

“เพื่อน ๆ ทุกคนก็เริ่มคุยกันว่า เราจะไปเรียนต่ออะไรกันดี ช่วงนั้นเราทำธุรกิจส่วนตัว เราอยากทำงานอะไรที่มันอิสระ เราไม่อยากเป็นลูกน้อง เราอยากจะหาอะไรใหม่ ๆ” คุณภูมิเล่า
เราก็เลยมีไอเดียว่า หรือเราจะลองไปฝึกภาษา แล้วก็มาเปิดธุรกิจของเราให้มันใหญ่ขึ้น
คุณภูมิเดินทางมาเรียนภาษาในนครเมลเบิร์นเมื่อราวช่วงปี พ.ศ. 2545 ระหว่างทางเขาได้รู้จักกับคนไทยที่เดินทางในเที่ยวบินเดียวกัน ซึ่งต่อมาเป็นผู้แนะนำให้เขาได้งานแรกระหว่างเรียนที่ร้านอาหารไทยแห่งหนึ่งในเมืองคิว (Kew) นครเมลเบิร์น
A mechanic working with a car
Source: Oli Woodman via Unsplash

จากเด็กปะยางสู่เจ้าของอู่ซ่อมรถ

หลังจากเรียนภาษาและทำงานที่ร้านไทยได้ระยะหนึ่ง คุณภูมิเริ่มวางแผนหาเส้นทางอาชีพใหม่ก่อนเรียนจบ ด้วยความชอบและทักษะการซ่อมรถที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับรัฐบาลออสเตรเลียเพิ่งประกาศในเวลานั้นว่า งานช่างยนต์มีโอกาสในการยื่นขอวีซ่าผู้อาศัยถาวร (พีอาร์) คุณภูมิจึงตัดสินใจก้าวสู่เส้นทางอาชีพช่างยนต์ที่เขาถนัด

แม้งานช่างในออสเตรเลียจะได้รับความนับถือ และมีรายได้ดี คุณภูมิเล่าว่าในเวลานั้นทางบ้านมีความเห็นที่แตกต่างไป โดยมองว่างานช่างเป็นงานชั้นล่าง และอยากให้เขาทำงานที่สูงกว่านี้ โดยไม่เข้าใจว่าการทำงานทุกอาชีพที่นี่มีความเท่าเทียมกัน

“ด้วยความที่พ่อแม่เป็นครูด้วย เขาก็จะมองว่า จะไปทำงานพวกชั้นล่าง ๆ ทำไม ทำไมไม่ทำงานที่มันดี ๆ ไม่อยากให้มาทำอาชีพพวกนี้ จะดูแบบค่อนข้างตลาดล่าง” คุณภูมิเล่า

“คุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจว่า การทำงานงานที่นี่ ทุกอาชีพของที่นี่มันมีค่าเท่ากันหมดเลย"
ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรที่ออสเตรเลีย ถ้าคุณตั้งใจทาสี ถ้าคุณตั้งใจเก็บขยะ คุณสามารถซื้อรถเฟอร์รารีได้ คุณสามารถผ่อนรถเฟอร์รารีได้ ซึ่งมัน impossible (เป็นไปไม่ได้) ที่เมืองไทย
คุณภูมิเริ่มเข้าสู่เส้นทางอาชีพช่างซ่อมรถ โดยยื่นใบสมัครงานตำแหน่งช่างยนต์ไปยังอู่รถหลายแห่ง แต่ก็ไม่มีคนรับเข้าทำงานเนื่องจากเป็นนักศึกษาต่างชาติที่ไม่มีโอกาสได้รับเข้าทำงานมากเหมือนนักเรียนท้องถิ่นที่พูดภาษาอังกฤษได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้รับโทรศัพท์จากร้านยางในเมลเบิร์นที่เคยส่งใบสมัครไป
เราก็ไปยื่นเรซูเม่หลายที่มาก จนมีอยู่ที่หนึ่งก็คือเป็นร้านยางโทรกลับมาว่า เราเห็นเรซูเม่คุณนะ เห็นคุณอยากจะเป็นช่าง ... แต่ว่าตอนนี้งานช่างเรามีแค่นิดเดียว ส่วนใหญ่จะเป็นปะยาง เปลี่ยนยาง คุณสนใจไหม
เขาตอบตกลงที่จะทำงานกับร้านยางแห่งนี้ โดยมองว่าเป็นโอกาสในการก้าวสู่วงการยานยนต์ และเรียนรู้ทักษะพื้นฐานที่ต้องใช้ในสายอาชีพนี้ ทั้งการใช้เครื่องมือ และการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในระหว่างการทำงาน

เมื่อคุณภูมิทำงานเป็นช่างปะยางมาได้ระยะหนึ่ง อู่ซ่อมรถใกล้กับร้านยางของเขากำลังจะเปิดอู่แห่งใหม่ในเมลเบิร์น เขาได้รับการทาบทามให้ไปเป็นช่างยนต์ที่นั่น ซึ่งคุณภูมิทราบภายหลังว่าเป็นอู่ซ่อมรถแบรนด์หรู

“มีอู่ตรงข้าม ซึ่งเป็นอู่ทำพวกรถยุโรป ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไร เขาบอกว่าเขากำลังจะเปิดอู่ใหม่อยู่ที่ในเมืองเมลเบิร์น คุณสนใจจะไปทำกับเราไหม เราก็เลยโอเค จังหวะว่างพอดี ” คุณภูมิเล่า
สรุปมันคืออู่ซ่อมรถเฟอร์รารี เราก็เลยค่อนข้างช็อกนิดนึง
จากชีวิตเด็กปะยาง เปลี่ยนไปเป็นช่างยนต์ตามที่คุณภูมิคาดหวัง เขาได้ทำงานกับรถยุโรปหลายยี่ห้อ และได้ทำงานกับอู่รถหลายแห่งในเมลเบิร์น จนกระทั่งวันหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายกับงานช่าง จึงลองผันตัวไปเป็นพนักงานขายรถ แต่เพราะมีประสบการณ์งานช่างในระดับสูงจึงได้เป็นหัวหน้าช่างแทนเลยไม่สมหวัง คุณภูมิจึงตัดสินใจที่จะเปิดกิจการอู่ซ่อมรถเป็นของตัวเองในที่สุด

“เราก็เลยลองยื่นขอเป็นพนักงานเซลล์ที่เล็กซัส (Lexus) แต่ตอนนั้น ด้วยความที่เขาเห็นเรซูเม่เรา แล้วเขาเห็นว่ามีประสบการณ์ช่างค่อนข้างสูง เขาก็เลยบอกว่าให้เรามาเป็นช่างที่นั่นก่อนแป็บนึงได้ไหม เดี๋ยวตำแหน่งเซลล์ขึ้นมาเมื่อไหร่เขาจะให้เราเป็นเชลล์ที่นั่น หลังจากนั้นก็ never happen (ไม่เคยเกิดขึ้น)”

“พอเริ่มเบื่อ ไม่ได้เป็นเซลล์แล้ว เราก็เลยมาเปิดอู่เอง ทำเอง”

ชนะคนดูถูกด้วย ‘น้ำใจไทย’

แม้จะได้เป็นช่างในอู่รถหรูอย่างเฟอร์รารี แต่คุณภูมิเล่าว่า การทำงานช่วงแรกเต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะเป็นชาวเอเชียเพียงคนเดียวในอู่ ประกอบกับสังคมออสเตรเลียเมื่อกว่า 20 ปีก่อนยังมีการเหยียดเชื้อชาติที่รุนแรงกว่าทุกวันนี้ เขาต้องพบการดูถูกทั้งคำพูดและการกระทำจากเพื่อนร่วมงานชาวท้องถิ่นที่นั่น
เราเหมือนเป็นหัวดำคนเดียวในศูนย์เฟอร์รารี เราก็จะมีปัญหาตรงที่คน local (ท้องถิ่น) เขาก็จะ look down (ดูถูก) เรานิดนึง ... เขาก็จะแบบ อย่ามาแตะรถพวกนี้เลย คุณมันไม่ qualify คุณมันไม่รู้เรื่องอะไรหรอก
“มันก็จะมีคนโน่นนี่นั่นบ้างที่ racist กับเรา เอากระดาษทิชชูมาปั้นเป็นก้อนในห้องน้ำ แล้วกำมาเปียก ๆ ขว้างใส่หัวเราบ้าง เหมือนแกล้งเรา เราก็สะเทือนใจเหมือนกัน เขาไม่ชอบเราขนาดนั้นเลยเหรอ”

แต่สิ่งที่ทำให้คุณภูมิสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่เคยดูถูกเขาได้ นั่นคือความมีน้ำใจแบบไทย ๆ ที่เขามีต่อเพื่อนร่วมงาน

“เราก็เลยเอาความเป็นมิตรของคนไทยเข้าไปแชร์ในคอมมิวนิตีเขา เอาอาหารมาบ้าง เราไปเก็บเชอร์รีมา เราก็เอาเชอร์รีมาฝากเขา”
เราเริ่มมีน้ำใจกับคนตรงนี้ คนพวกนี้ก็จะเลยเริ่มรู้สึกว่าการที่เขามองเราลบ ๆ เขาเริ่มที่จะ เฮ้ย มันก็ไม่แย่นะ ... เราก็ใช้วิธีของคนไทยที่เราโตกันขึ้นมา ... เขาก็เลยรู้สึก comfortable (สบายใจ) กับเรา
คุณภูมิ ได้พูดคุยอีกมากมายกับเอสบีเอส ไทย ถึงเรื่องราวของการเป็นช่างยนต์ในออสเตรเลีย คุณสามารถฟังเรื่องราวฉบับเต็มในพอดคาสต์ของเราได้ที่นี่
ฟังสัมภาษณ์เรื่องนี้
poom thai mechanic tells his pathway to work in australia  image

เบื้องลึกของช่างยนต์คนไทยในออสเตรเลีย

SBS Thai

14/02/202218:18

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share