อัตราโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ช่วงล็อกดาวน์อาจสูงเกินคาด

An electron microscope image of the sexually transmitted HIV virus

An electron microscope image of the sexually transmitted HIV virus Source: Getty

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ระบุว่า จำนวนรายงานโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ทว่า รายงานการศึกษาผลกระทบของล็อกดาวน์ชี้ อาจมีกรณีติดเชื้อมากกว่าที่ตรวจพบ


LISTEN TO
Lockdown infection rates of sexually transmitted diseases may be higher than expected image

อัตราโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ช่วงล็อกดาวน์อาจสูงเกินคาด

SBS Thai

26/04/202108:11
นพ.วิจยาสารถี รามานธาน (Dr Vijayasarathi Ramanathan) อาจารย์สาขาวิชาสุขภาพทางเพศจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) กล่าวว่า ขณะที่คนส่วนใหญ่ในออสเตรเลียคงรู้จักโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวี โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นที่พบทั่วไปกว่ากลับยังไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนัก

"โรคที่พบหลัก ๆ ได้แก่ หนองใน (Gonorrhea) หนองในเทียมหรือคลาไมเดีย (Chlamydia) ซิฟิลิส (Syphilis) และเอชไอวี เราเรียกโรคประเภทนี้ว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ เอสทีไอ (Sexually Transmitted Infections: STIs) เพราะติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ โรคเริมก็พบได้ทั่วไปเช่นกัน... รวมถึงเชื้อเอชพีวี (HPVด้วย"

นพ.รามานธานกล่าวว่า กรณีโรคติดเชื้อส่วนมากรักษาได้เห็นผลหากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ถ้าตัดสินใจพบแพทย์ล่าช้าอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพรุนแรงในภายหลัง แต่คนจำนวนมากกลัวที่จะเริ่มต้นปรึกษาแพทย์

"บางคนรู้สึกอับอาย รู้สึกว่าตัวเองทำเรื่องผิดร้ายแรง... แล้วพวกเขาจะเริ่มคิดเชื่อมโยงต่อจากผลวินิจฉัยโรค ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวพวกเขาเอง ทั้งสุขภาวะ พฤติกรรมทางเพศ และความสัมพันธ์" นพ.รามานธานอธิบาย 

นพ.โอเลย์ทัน โอกันโบดีดิ (Dr Olaitan Ogunbodede) นักศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันวิจัยการแพทย์เวสต์มีด (Westmead Institute for Medical Research) มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ร่วมจัดทำรายการงานศึกษาผลของไวรัสโคโรนาต่ออัตราการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลก

นพ.โอกันโบดีดิกล่าวว่า ตัวเลขรายงานการติดเชื้อของทางการอาจประเมินอัตราการติดเชื้อช่วงล็อกดาวน์ต่ำเกินความเป็นจริง

สถิติจากหน่วยงานสาธารณสุขรัฐนิวเซาท์เวลส์ชี้ว่า จำนวนกรณีโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่มีรายงานในช่วงเวลาหกเดือนแรกของปี 2020 ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับห้าปีที่ผ่านมา

นพ.โอกันโบดีดิกล่าวว่า อัตราการติดเชื้อน่าจะลดลงจริง แต่โดยทั่วไปแล้วตัวเลขนี้ไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่ไม่ได้ตรวจพบ
A positive HIV blood test
A positive HIV blood test Source: Getty Images
ข้อจำกัดช่วงล็อกดาวน์ทำให้คนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศได้จำกัด ผู้ติดเชื้อหลายคนอาจเลือกอยู่บ้าน และมักไม่สามารถเข้ารับบริการเหล่านี้ได้

"บางคนตัดสินใจเก็บตัวมากขึ้น ปลีกตัวมากขึ้น และมองว่านี่เป็นการกระทำที่เห็นแก่ส่วนร่วม เพื่อจะได้ไม่เพิ่มแรงกดดันต่อระบบ"

นพ.โอกันโบดีดิเสริมว่า พฤติกรรมหลีกเลี่ยงเช่นนี้อาจกลายเป็นความเคยชินติดตัวแม้บริการสุขภาพจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

"พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้อาจไม่หายไปแม้หลังล็อกดาวน์สิ้นสุด จุดนี้ต้องสร้างความตระหนักว่า ผู้คนยังจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจโรค เราต้องการให้คนมาตรวจ เราไม่ต้องการให้ปล่อยไว้ ไม่อยากให้ทิ้งไว้จนสายกว่าจะเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง" นพ.โอกันโบดีดิกล่าว 

นพ.วิจยาสารถี รามานธาน กล่าวว่า การให้ความรู้ยังคงเป็นกุญแจสำคัญต่อการปรับปรุงอัตราเข้ารับการตรวจโรค

โครงการวิดีโอออนไลน์ของเขตสาธารณสุขซิดนีย์ตะวันตก (Western Sydney Health District) มีวัตถุประสงค์ให้ความรู้กับชุมชนในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของซิดนีย์ เกี่ยวกับโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และขั้นตอนที่ผู้ติดเชื้อควรปฏิบัติ 

นพ.เชย์เลนดรา สวาเลชวาร์กา (Dr Shailendra Swaleshwarka) เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมในโครงการวิดีโอนี้ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

"การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ คือการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส และจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น การติดเชื้อเหล่านี้อาจปรากฏบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก บางครั้งก็พบบริเวณอื่นบนร่างกาย"
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เอชไอวีเชื้อร้ายที่ซ่อนเร้น

นพ.สวาเลชวาร์กาอธิบายว่า การพบแพทย์ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนแต่อย่างใด

"คุณไปหาหมอโดยนัดหมายล่วงหน้าก่อนหรือไม่ก็ได้ คุณไม่ต้องใช้บัตรเมดิแคร์หรือเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เมื่อไปขอรับบริการจากคลินิกสุขภาพทางเพศที่ดำเนินการด้วยทุนจากรัฐบาล" 

นพ.รามานธานกล่าวว่า การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

ถุงยางอนามัยเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด แต่บางคนยังคงลังเลที่จะใช้ถุงยางอนามัย

"ถ้าเป็นความสัมพันธ์ชั่วคืนก็คุยเรื่องใช้ถุงยางกันง่ายหน่อย ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน แต่หลังจากมีเพศสัมพันธ์กันอีก บางคนมองว่าการใช้ถุงยางอนามัยหมายความว่า 'คุณยังไม่เชื่อใจฉันอีกหรือ' หรือ 'คุณคิดว่าฉันสกปรก เห็นว่าฉันเป็นอันตรายกับคุณ' ...ความคิดแบบนี้มักเกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจไม่ใช้ถุงยางอนามัย" นพ.รามานธานกล่าว 

โดยทั่วไป กลุ่มประชากรอายุน้อยกว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อสูงกว่า แต่นพ.รามานธานเตือนว่า ผู้สูงวัยไม่ได้ปลอดภัยจากความเสี่ยงนี้

"ผู้ที่อายุเกิน 50 หรือ 60 ปี อาจคิดว่า 'เราไม่เสี่ยงตั้งครรภ์แล้วจึงไม่ต้องใช้ถุงยางอนามัย' ผลที่ตามมาคือ อัตราการติดเชื้อในกลุ่มอายุดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน"

นพ.รามานธานยังกล่าวด้วยว่า แคมเปญรณรงค์สร้างความเข้าใจไม่จำเป็นต้องเจาะจงกลุ่มอายุหรือเชื้อชาติใด เมื่อทุกคนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็สามารถรักษาสุขภาพทั้งของตนและของชุมชนได้


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share