งานวิจัยล่าสุดชี้ค่าครองชีพพุ่งสูงในออสเตรเลีย

NEWS: จากการศึกษาวิจัยของสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย หรือเอซีทียู พบว่าค่าครองชีพสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันนั้นกำลังพุ่งสูงขึ้นนำหน้าดัชนีราคาผู้บริโภค

การวิจัยล่าสุดพบค่าครองชีพสำหรับสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตเพิ่มสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (AAP)

การวิจัยล่าสุดพบค่าครองชีพสำหรับสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตเพิ่มสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค Source: AAP

You can read the full article in English

รายงานจากสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย หรือ เอซีทียู ชี้ว่า ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าบริการดูแลเด็ก ค่าเช่าบ้าน และราคาบ้าน กำลังพุ่งสูงขึ้น มากกว่าดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ

รายงานดังกล่าว ซึ่งเอซีทียู เผยแพร่ออกมาในวันนี้ (ศุกร์ 12 ต.ค.) แสดงให้เห็นว่า ค่าไฟฟ้า ได้เพิ่งสูงขึ้นร้อยละ 10.4 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่าแก๊สเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน

ค่าบริการดูแลเด็กก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉลี่ยร้อยละ 6 ขณะที่ค่าเดินทางนั้นเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5

ค่าที่พักอาศัย เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 3 เล็กน้อย เช่นเดียวกันกับค่าบริการสุขภาพ ขณะที่ค่าบริการด้านการศึกษามากขึ้นร้อยละ 2.7 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

สถิติดังกล่าวเผยให้เห็นค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นนำหน้าดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) ที่เป็นมาตรฐานชี้วัดการใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจนถึงช่วงไตรมาศในเดือนมิถุนายนนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.1

รายงานดังกล่าวของ เอซีทียู จึงเรียกร้องให้มีการปฏิวัติอย่างเร่งด่วน ให้นำมาตรการการต่อรองกลุ่มระหว่างกลุ่มลูกจ้างกับกลุ่มนายจ้างในอุตสาหกรรมต่างๆ (multi-employer bargaining) กลับมาใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง ให้มีการกำหนด ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต’ (living wage) หรือค่าจ้างที่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ ให้เพิ่มค่าจ้างภาคราชการ และพยายามทำให้กฎหมายแรงงานช่วยลดจำนวนงานที่ไม่มั่นคงให้น้อยลง

นางแซลลี แมคมานัส เลขาธิการเอซีทียู กล่าวว่า ขณะที่เงินเดินผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจต่างๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 5.2 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ แต่ชาวออสเตรเลียที่เหลือกลับเห็นค่าจ้างของพวกเขามีกำลังซื้อน้อยลง

“ประชาชนกำลังรู้สึกถึงผลกระทบจริงๆ จากการที่ต้องพยายามให้งบประมาณครัวเรือนขยายไปให้พอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งมากกว่าที่สถิติอย่างเป็นทางการบ่งชี้ และการศึกษาวิจัยชิ้นนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าค่าครองชีพหลักๆ กำลังเพิ่มขึ้นสูงกว่า ซีพีไอ (ดัชนีราคาผู้บริโภค)” นางแมคมานัส กล่าว

“ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ค่าจ้างจะก้าวถอยหลังในขณะเดียวกันกับที่จำนวนลูกจ้างที่ได้รับการปกป้องจากข้อตกลงเงื่อนไขและสภาพการจ้างงานระหว่างกลุ่มนายจ้างกับกลุ่มลูกจ้าง (collective agreements) นั้นล่มสลายลง”

เธอกล่าวว่าการศึกษาวิจัยของเอซีทียู พบว่า มีลูกจ้างน้อยลงอีก 700,000 คนที่อยู่ภายใต้สัญญา collective agreements เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อน

ด้านนางเคลลี โอ ดไวเอร์ รัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ ที่คัดค้านการผลักดันเรื่องนี้ของสหภาพแรงงานมาอย่างแข็งขัน กล่าวว่า การสร้างงานให้มีมากขึ้นต่างหาก ที่จะผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นได้

เธอกล่าวว่า รัฐบาลพรรคร่วมได้ริเริ่มมาตรการที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การสร้างงานตำแหน่งใหม่ 1.1 ล้านตำแหน่ง

“ทุกอย่างจะตกอยู่ในความเสี่ยงหมด หากคุณต้องการกระโดดขึ้นเครื่องย้อนเวลาไปหาช่วงก่อนปีทศวรรษ 1970 และสร้างความโกลาหลวุ่นวาย ในที่ทำงานของเรา ด้วยการให้อำนาจที่ลูกจ้างจะกระทำการประท้วง คว่ำบาตร หรือนัดหยุดงานของโดยหวังผลทางเศรษฐกิจ ไปทั่วภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้” นางโอ ดไวเออร์ กล่าวกับเอบีซี




Share
Published 12 October 2018 12:57pm
Updated 12 October 2018 2:43pm
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP


Share this with family and friends