ร้านไอศกรีมหุ่นยนต์แห่งแรกในออสเตรเลียเปิดแล้วที่เมลเบิร์น

NEWS: จากไอเดียกลางดึกในสนามบิน สู่ร้านไอศกรีม “นิสกา (Niska)” ที่บริการด้วยหุ่นยนต์แบบเต็มตัวแห่งแรกในออสเตรเลีย เปิดแล้ววันนี้ที่เมลเบิร์น

Niska

Source: SBS Russian

คุณอยากลองชิมไอศกรีมที่เสิร์ฟด้วยหุ่นยนต์หรือไม่ หากใช่ คุณอาจสนใจลองชิมที่ร้านนี้

Niska Robotic Ice Cream Bar ร้านไอศกรีมแห่งแรกในออสเตรเลียที่บริการด้วยหุ่นยนต์แบบเต็มตัว เปิดร้านวันแรกเมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) ที่จัตุรัสเฟดเดอร์เรชัน สแควร์ (Federation Squarre) ใจกลางย่าน CBD ของนครเมลเบิร์น ภายในร้านมีหุ่นยนต์ 3 ตัว ที่ออกแบบให้มีความใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุด ทุกตัวใส่ผ้ากันเปื้อนและแม้กระทั่งหูกระต่าย และมีชื่อว่าเปปเปอร์ (Pepper) คุคา (Kuka) และโทมัส (Thomas) 
Niska
First Robotic Ice Cream bar Source: Supplied by Niska
Niska, ice cream robotic bar
Niska, ice cream robotic bar Source: SBS Russian
เปปเปอร์ รับหน้าที่เป็นคนต้อนรับลูกค้า เธอจะรับออเดอร์และแนะนำให้คุณติดตาม ขณะที่โทมัสและคุคานั้นรับหน้าที่ในการตักไอศกรีมและจัดการเสิร์ฟ

ความคิดในการเปิดร้านไอศกรีมหุ่นยนต์แห่งแรกในออสเตรเลียนี้เกิดขึ้นเมื่อ อันตอน โมรัส (Anton Morus) และ เคท ออโลวา (Kate Orlova) สองนักธุรกิจหน้าใหม่ ขณะกำลังรอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินในกรุงโซลของเกาหลีใต้ พวกเขาได้แรงบันดาลใจจากหุ่นยนต์ให้ความบันเทิงผู้โดยสารในสนามบิน 

“ตอนนั้นมันดึกมากแล้ว และก็ไม่มีร้านขายของที่ไหนเปิด เราเห็นหุ่นยนต์ที่เล่นกับแว่นตาดำ คอยให้ความบันเทิงกับผู้โดยสารในสนามบิน แล้วเราก็มีความคิดว่า ทำไมไม่ให้พวกมันมาเสิร์ฟอาหารบ้างล่ะ” เคทเล่ากับเอสบีเอส ภาคภาษารัสเซีย 

เมื่อทั้งสองกลับมาออสเตรเลีย อันตอนแนะนำให้เคทจินตนาการถึงภาพร้านไอศกรีมที่มีพนักงานบริการเป็นหุ่นยนต์ และวาดอะไรก็ตามที่นึกออกมาได้ 

“เหตุการณ์ที่เกิดหลังจากนั้นเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เราส่งแนวคิดของเราไปให้ซีอีโอของ Kuka Robotics Australia แล้วเขาก็ชอบมัน” เคทเล่า

วันนี้ ความคิดและจินตนาการของทั้งสองนั้นเป็นจริงแล้ว ในรูปแบบร้านไอศกรีมหุ่นยนต์ที่จัตุรัสเฟดเดอร์เรชัน สแควร์ ในนครเมลเบิร์น

“หุ่นยนต์เสิร์ฟไอศกรีมมีมานานแล้ว แต่ก็เสิร์ฟขายแค่ในบางโอกาส บางงาน บางกิจกรรม แต่ไม่ได้เสิร์ฟขายเป็นร้านอย่างเรา” อันตอนกล่าว

เคยถูกเตะออกมาบนทางเท้า

หากถามทั้งสองคนก่อนหน้านี้ไปหลายปีว่า พวกเขาจะจินตนาการว่าจะเปิดธุรกิจบริการโดยหุ่นยนต์หรือไม่ ทั้งสองคงจะตอบว่า “ไม่”

เคท และอันตอน เดินทางมาถึงออสเตรเลียจากรัสเซีย ทั้งสองคนไม่มีประสบการณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งโครงการนวัตกรรมเช่นร้านไอศกรีมแห่งนี้
Anton Morus and Kate Orlova
อันตอน โมรัส (Anton Morus) และ เคท ออโลวา (Kate Orlova) Source: SBS Russian
ที่รัสเซีย อันตอนเป็นนักกฎมาย และเคทเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านชีวะวิทยา ระหว่างที่เคทได้รับโครงการในการศึกษาปริญญาเอกของเธอในออสเตรเลีย นั้นคือจุดที่ทั้งสองตัดสินใจย้ายมาอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ซึ่งพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจที่ท้าทายให้พวกเขาลองเสี่ยงที่จะเปิดกิจการเป็นของตนเอง

“มีช่วงเวลาที่เลวร้ายช่วงหนึ่ง เราถูกเตะออกมาอยู่บนทางเท้า” อันตอนเล่าส่วนหนึ่งของประสบการณ์ช่วงที่ย้ายมาออสเตรเลียใหม่ๆ 

“เรามีลูกที่ต้องดูแล เราอยู่ต่างบ้านต่างเมือง มีความยากลำบากเกิดขึ้นกับวีซ่าที่เราถือ เราลองผิดลองถูกทำธุรกิจกันเองจนวงเงินในบัตรเครดิตเราถูกใช้ไปจนหมดเกลี้ยง” อันตอนเล่า

เหมือนดิ่งพสุธาแบบไม่มีร่มชูชีพ

ร้านไอศกรีมหุ่นยนต์นี้ไม่ใช่ธุรกิจแรกของทั้งสองคน ก่อนหน้านี้ เขาและเธอได้เริ่มธุรกิจผลิตช็อคโกแลตหรูที่เริ่มต้นขึ้นจากศูนย์ ซึ่งขณะนี้ได้ผลิตให้กับเครือโรงแรมหรูหลายแห่ง และห้องรับรองชั้นธุรกิจในสนามบิน

แม้การตัดสินใจทำธุรกิจใหม่อีกอย่างหนึ่งนั้นจะดูน่ากังวล แต่พวกเขาก็ได้เห็นความสวยงามในอีกด้านของการทำอะไรสักอย่างเป็นครั้งแรก

“การเริ่มต้นโครงการใหม่ มีหลายครั้งที่เรารู้สึกเหมือนเดินอยู่ริมหน้าผา มองลงไปข้างล่าง และก็กระโดดลงไป แล้วตอนนั้นเองที่เราเริ่มประกอบเฮลิคอปเตอร์ซึ่งควรจะขึ้นบินให้ได้ก่อนที่เราจะตกลงถึงพื้น” เคทเล่า

ทั้งสองรู้สึกขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้รับในออสเตรเลีย และความคลายกังวลในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้เขาและเธอสามารถคว้าโอกาสนี้ไว้ได้

“เราเห็นการสนับสนุนนี้เกิดขึ้นตลอดเส้นทางของเรา เราได้รับการแนะนำให้คนรู้จัก มันไม่มีพิธีรีตองที่วุ่นวายอย่างที่เป็นอยู่ในรัสเซีย มันช่วยได้เยอะมาก” อันตอนเล่า 

ระบบจำหน่ายไอศกรีมทั้งหมดถูกออกแบบและผลิตขึ้นในออสเตรเลีย จากผู้สนับสนุนอย่างมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) และภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ช่วยก่อร่างสร้างโครงการของพวกเขา รวมถึงนวัตกรรมทันสมัยต่างๆ ที่ออสเตรเลียจะภาคภูมิใจ
Niska
First robotics ice cream bar in Melbourne Source: Supplied by Niska
ทั้งสองคนเชื่อว่า พลังของเครื่องจักรกลอัตโนมัติ จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจ

“เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร เพราะเหตุใดที่เราต้องทำสิ่งนี้ เราเห็นผลในแง่บวกที่มีต่อเศรษฐกิจโลก มนุษย์แทบจะสามารถกำจัดงานแบบกิจวัตรออกไปได้ มอบให้เป็นหน้าที่ของเครื่องจักรกล และใช้เวลาในการประกอบอาชีพที่สามารถเติมเต็มชีวิตได้มากกว่า” 

Source: SBS Russian

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

You can check out the full version of this story in English on SBS Russian .

Share
Published 18 September 2019 4:30pm
Updated 19 September 2019 12:37am
By Olga Klepova
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS Russian


Share this with family and friends