แหวน กล่องลึกลับ และคิวอาร์โคด: กลโกงมิจฉาชีพแบบใหม่ล่าสุด

หญิงชาวซิดนีย์ผู้หนึ่งคิดว่าเธอได้สั่งซื้อเสื้อผ้าแบรนด์ดังออนไลน์ แต่เมื่อของมาส่งกลับเปิดเจอแหวนเพชร

Composite image of a woman and a box containing a diamond ring

คุณ ลอรา รามอส ได้รับกล่องพัสดุที่มีแหวนเพชรข้างในแต่ไม่ระบุว่าใครเป็นผู้ส่ง Source: Supplied / Laura Ramos


คุณ ลอรา รามอส เจอโฆษณาเสื้อผ้าแบรนด์ดังของออสเตรเลียกำลังลดกระหน่ำด้วยการเซลล์เสื้อผ้าออนไลน์ ที่มีราคาถูกสุดๆ เพียงตัวละ 7 ดอลลาร์เท่านั้น

และเมื่อคลิกผ่านโฆษณาพอปอัปบนโซเชียลมีเดีย คุณ ลอรา จากนครซิดนีย์ก็สั่งซื้อเสื้อผ้าที่กำลังเซลล์นี้ไปประมาณ 70 ดอลลาร์ คุณ รามอส อธิบายลักษณะของเว็บไซต์นี้ว่า

“มีโลโก้แบรนด์แปะอยู่ รูปถ่ายที่ใช้ก็แบบเดียวกับที่ใช้บนเว็บไซต์ (ของจริง) และมีสินค้าเหมือนกันเป๊ะ”

“ดูแล้วแล้วพวกเขาก็อปทุกอย่างยกเว้นราคา”


เมื่อคุณรามอส สั่งซื้อสินค้าแล้ว เธอก็ให้จัดส่งไปที่ที่ทำงาน แต่เมื่อผ่านไปนานกว่าหนึ่งเดือนและไม่ได้ของ เธอก็ตระหนักว่า 'การลดราคากระหน่ำ' นั้นเป็นกลโกง

แต่ต่อมา ของก็มาถึง ซึ่งเมื่อเธอเปิดดูก็พบว่าเป็นแหวนเพชร พร้อมด้วยโบรชัวร์ที่มีรหัส QR ซึ่งดูเหมือนจงใจกระตุ้นให้คนสแกนหาข้อมูลเพิ่มเติม คุณรามอสอธิบายเหตุการณ์เมื่อเธอได้รับพัสดุดังกล่าวว่า

“ฉันรู้สึกตกใจมาก เพราะมันไม่มีชื่อที่อยู่ของผู้ส่ง ไม่มีอะไรที่ฉันสามารถตรวจสอบหรือติดตามได้ จากนั้นฉันก็โพสต์ออนไลน์ (และ) ทุกคนในที่ทำงานก็ตกใจ”

“พวกเขาพูดประมาณว่า 'อะไรกันเนี่ย แฟนของเธอขอแต่งงานหรือเปล่า'”

แต่คุณรามอสรู้ว่าแฟนของเธอไม่ได้ขอแต่งงาน หลังจากนั้นนเธอและเพื่อนร่วมงานจึงเริ่มสืบเรื่องนี้

A woman sitting outside in the evening smiling at camera
พัสดุที่มาถึงเมื่อเธอเปิดดูก็พบว่าเป็นแหวนเพชรที่เธอไม่ได้สั่งซื้อ Source: Supplied / Laura Ramos
หลังจากตามหาแหล่งที่มาของกล่องปริศนาทางออนไลน์ ในที่สุด พวกเขาก็พบกับวิดีโอจาก Sassy Gal Prepping ผู้สร้าง YouTube ที่ได้รับแหวนทางไปรษณีย์อย่างลึกลับในปี 2023

จากวิดีโอ แหวนดังกล่าวไม่ใช่เพชรจริง และการส่งของก็ดูซับซ้อน ซ่อนเงื่อน โดยเหยื่อจะถูกแฮกหากพวกเขาสแกนโคดและป้อนรายละเอียดของพวกเขา

คุณ รามอสกล่าวว่าก่อนหน้านี้เธอพยายามสแกน QR โคดแต่ไม่สำเร็จ

เธอเชื่อว่าการตั้งค่าความปลอดภัยบน iPhone ของเธอตรวจพบว่าลิงก์นั้นน่าสงสัยและทำการบล็อกไว้

แม้ว่าเธอไม่มีหลักฐานว่า มิจฉาชีพที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้จะเป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือไม่ แต่เธอสงสัยว่าพวกเขามีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากปกติแล้วเธอไม่ค่อยคลิกลิงก์ที่มีความผิดปกติหรือการขายของลดราคาออนไลน์ คุณรามอส เปิดเผยว่า

“ฉันว่าฉันค่อนข้างรมีดระวังตัวในเรื่องนี้ ฉันไม่เคยคลิกลิงก์หรืออะไรทำนองนั้นเลย”

“แต่สำหรับครั้งนี้ที่ฉันตัดสินใจซื้อ เพราะมันค่อนข้าง 'น่าสนใจ' เพราะของลดเยอะมากในเว็บนั้น แต่ฉันก็ไม่เคยเจอปัญหานี้มาก่อน”

กลลวงแบบ brushing scam คืออะไร?

พัสดุลึกลับที่คุณ ลอร่า รามอส ได้รับอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของ 'การหลอกลวงแบบ brushing scam'

เว็บไซต์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ LifeLock โดย Norton ชี้ว่าการหลอกลวงแบบ brushing scam เป็นการฉ้อโกงอีคอมเมิร์ซประเภทหนึ่งที่เหยื่อจะได้รับพัสดุที่พวกเขาไม่เคยสั่ง

มิจฉาชีพจะเริ่มต้นด้วยการได้รับรายละเอียดของเหยื่อ ซึ่งพวกเขาสามารถใช้เพื่อเปิดบัญชีหลายร้อยบัญชีในร้านค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าแบบปลอมๆ

จากนั้น พวกเขาจะ 'ซื้อ' สินค้าของตนเอง ส่งไปยังที่อยู่ของเหยื่อ และโพสต์รีวิวปลอมบนเว็บไซต์ของตน เพื่อทำให้สินค้าที่อยู่ในหน้าเว็บดูเหมือนจริง

LifeLock ยังกล่าวว่าสัญญาณสำคัญของกลโกงแบบ brushing scam' คือการได้รับสินค้าที่คุณไม่ได้สั่งซื้อ และไม่มีที่อยู่สำหรับส่งคืน แต่หลังจากนั้นชื่อของคุณจะปรากฏบนรีวิวของสินค้าเหล่านี้

หากคุณตกเป็นเหยื่อในการหลอกลวง ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงินของคุณอาจถูกเปิดเผย

ทำให้คุณมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว คำแนะนำของ LifeLock บอกว่าคุณควรจับตาดูบัญชีธนาคารของคุณอย่างใกล้ชิดสำหรับการเข้าออกเงินในบัญชีที่น่าสงสัย

จะตรวจจับการหลอกลวงออนไลน์ได้อย่างไร?

จากข้อมูลของ ระบุว่าเมื่อปีที่แล้วชาวออสเตรเลียสูญเสียเงิน 74 ล้านดอลลาร์จากการหลอกลวงทางออนไลน์

การหลอกลวงมีหลายแบบซึ่งรวมไปถึงการสร้างเว็บไซต์ปลอมให้ดูเหมือนสินค้าแบรนด์ดัง หรือแอบอ้างเป็นคนดังเพื่อให้คำแนะนำต่างๆ

การหลอกลวงเว็บไซต์นี้อาจรวมถึงแบนเนอร์พอปอัปหรือมีคำเตือนที่เด้งขึ้นมาตามหน้าฟีดในอินเตอร์เน็ต หรือข้อความที่บอกว่าคุณดำเนินการผิดเพื่อกดดันให้ผู้ใช้ดำเนินการอะไรบางอย่าง


ด้าน บริการ Scamwatch ของคณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) กล่าวว่าสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการหลอกลวงของมิจฉาชีพในเว็บไซต์ขายสินค้านี้อาจรวมถึง:
  • การขายสินค้าราคาถูกกว่าปกติมาก
  • มีวิธีการชำระเงินที่ผิดปกติ
  • มีคำเตือนหรือข้อความแสดงข้อผิดพลาด 'ด่วน'
  • มีรีวิวที่คลุมเครือหรือมีรีวิวเชิงบวกเท่านั้น
คุณ รามอสกล่าวว่าจากประสบการณ์นี้เธอแนะนำว่าควรหาข้อมูลให้มากขึ้นก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้น เพื่อที่จะได้ไม่เป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ

“ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดคือการตรวจสอบ และตรวจสอบเว็บไซต์ที่คุณซื้อสินค้าอีกครั้ง” เธอกล่าว

“และเปิดหน้าใหม่บนเว็บไซต์ แล้วลองหาชื่อที่อยู่ถัดจากเว็บไซต์ปลอมและดูว่ามีอะไรปรากฏขึ้นหรือไม่”

Scamwatch ยังแนะนำว่าก่อนที่จะจ่ายเงินหรือให้รายละเอียดส่วนบุคคลใดๆ นั้นอย่าหลงเชื่อรีวิว

อย่าเชื่อรีวิวบนเว็บไซต์ แต่ให้ค้นหารีวิวอิสระบนเว็บไซต์อื่น ๆ
Scamwatch

"หากข้อเสนอหรือการลดราคาดูดีเกินจริง ก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่าเป็นกลลวง คุณควรศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้ก่อนที่จะหลงเชื่อและซื้อสินค้าเหล่านั้น"

หากคุณคิดว่าคุณตกเป็นเหยื่อ โปรดติดต่อผู้ให้บริการธนาคารของคุณทันทีเพื่อรายงานเรื่องนี้ ขอให้พวกเขาหยุดการทำธุรกรรม และเปลี่ยนรหัสผ่านบนอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ของคุณทั้งหมด

หากคุณมีข้อกังวลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์หรือคิดว่าข้อมูลประจำตัวของคุณถูกแฮก โปรดติดต่อ IDCARE ที่หมายเลข 1800 595 160



คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 



บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 23 July 2024 9:30am
By Jessica Bahr
Presented by Chayada Powell
Source: SBS


Share this with family and friends